เปิดอัตราโทษ เจ้าของจงใจปล่อยสุนัขดุร้ายไปไล่กัดผู้อื่น
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยถึงกรณีการปล่อยสุนัขดุร้าย ให้ไปไล่กัดชาวบ้าน ว่า การเลี้ยงดูสุนัขแล้วไปสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น ไปกัดเด็กหรือไปกัดไก่ผู้อื่น หรือปล่อยสุนัขดุร้ายไปไล่กัดชาวบ้านนั้น เจ้าของอาจจะต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหาย ให้แก่ฝ่ายที่เสียหายจากสัตว์นั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงสัตว์นั้น
อีกทั้งถ้าเจ้าของสุนัขเลี้ยงดูสุนัขไม่ดี ปราศจากความระมัดระวัง ปล่อยปละละเลย ไปไล่กัดหรือทำร้ายผู้อื่นก็สามารถเอาผิดเจ้าของสุนัขฐานประมาทได้ เช่น หากการกระทำประมาทนั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะมีโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และถ้าการกระทำประมาทนั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ รับอันตรายจนสาหัส อาจมีความผิดตาม มาตรา 300 โทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำประมาทและพิสูจน์ได้ว่า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 ผู้ใดกระทำประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ถึงแม้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ให้การกระทำ ตามมาตรา 21 (6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ก็ตาม
แต่การจงใจเลี้ยงสุนัขดุร้าย ปราศจากความระมัดระวังแล้วไปสร้างความเดือดร้อนนั้น ย่อมมีโทษตามกฎหมายแน่นอน ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ เจ้าของนอกจากต้องมีความเมตตาต่อสัตว์แล้ว ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคมนั้นมีความสำคัญยิ่ง เมื่อหากเกิดเหตุขึ้นมา เจ้าของจะปฏิเสธในส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบไม่ได้ หรือจะไปโทษสุนัขเพียงอย่างเดียวไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น ความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชนที่ควรปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะทำให้ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากรู้ว่าสุนัขของตนเองมีนิสัยดุร้าย ไม่ควรปล่อยออกมาเป็นอันตรายต่อผู้อื่นนะคะ