6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล

6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล

UCEP คือ นโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดย UCEP ย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ดังนั้น แม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่มีสิทธิอะไรเบิกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้

เนื่องจาก UCEP มีขึ้นมาเพื่อลดการเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิในการเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ UCEP จะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ตาม สิทธิ UCEP จะคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้นนะคะ

6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ใช้สิทธิ UCEP ได้

เกณฑ์ UCEP ที่ระบุว่า "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" จะคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยดังต่อไปนี้

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อ

เราจะใช้สิทธิ UCEP ได้อย่างไร

ขั้นตอนในการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้

ตรวจสอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ ณ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสำนักงานเขต หรือโทร. 1330 สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลของเราได้

กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ให้แจ้งโรงพยาบาลรับทราบว่า ขอใช้สิทธิ UCEP

โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ของ UCEP ทว่าหากมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษาศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 0-2872-1669

เมื่อโรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบ

หากเข้าเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อพ้นภาวะวิกฤต

ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เข้าหลักเกณฑ์ USEP ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง หากต้องการรักษาในโรงพยาบาลเดิมที่ตัวเองไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ

UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมงเท่านั้นหรือ ตามเงื่อนไขของ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนอกเครือข่าย ได้ฟรีภายใน 72 ชั่วโมง โดยนับจาก สพฉ. รับผู้ป่วยเข้าระบบ UCEP แล้ว สพฉ. จะดำเนินการแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยให้ดำเนินการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ทันภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และผู้ป่วยก็จะได้ใช้สิทธิรักษาตามที่ตนมีในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษาโดยตรง

ส่วนในขั้นแรกที่เข้ารักษา ณ โรงพยาบาลเอกชน ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหลังพ้นภาวะวิกฤต ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น สพฉ. จะเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด ผู้ป่วยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นต้องเข้าเกณฑ์ 6 ข้อข้างต้น หรือแล้วแต่แพทย์และทาง สพฉ. จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายเบิก UCEP ได้นะคะ

หากโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรับตัวไปรักษาต่อได้ ต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเกิดความขัดข้อง ไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อได้ เคสนี้ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. จะแจ้งไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ต่อไป

นับเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและวิกฤตจริง ๆ อย่าลืมนะคะว่าเราสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้น หากเกิดอาการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร. 1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

เฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ-สพฉ. 1669

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ