ธนาคารโลก ชี้ โควิด ทำคนไทยจนพุ่งขึ้นอีก กว่า 1.5 ล้านคน
วันนี้ (20 ม.ค.) นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะฟื้นตัวที่ยืดเยื้อจากผลกระทบของการกลับมาของ CV19 ขณะที่ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ทำให้ธนาคารโลก ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวที่ 4% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางการกลับมาระลอกใหม่ของโควิด และหากโรคระบาดเริ่มบรรเทาลง รวมถึงทั่วโลกเริ่มได้รับการฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ดีคาดว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะต่ำกว่าประมาณการณ์ก่อนการระบาดในปี 2565 ถึง 4.4% โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา การฟื้นตัวจะไม่เท่ากัน เช่นจีนจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
ที่สำคัญจากสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ส่งผลให้รายได้ต่อหัวลดลงในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ทำให้จำนวนประชากรหลายล้านคนกลับไปสู่ความยากจนโดยจะเห็นการสนับสนุนด้านมาตรการการคลังของในประเทศต่างๆ อย่างไม่เคยเห็นมาก่อนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 มากขึ้น ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทประเมินว่าจะดีขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดียังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน และการแจกจ่ายวัคซีน ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการสูญเสียรายได้ต่อหัวที่มากขึ้น หรือระดับความยากจนมีมากขึ้น รวมถึงความท้าทายของตลาดแรงงานในไทยด้วย เป็นผลจากประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 13-15% ของจีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนไหวจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ดังนั้นการลงทุนยังมีความสำคัญ เพื่อที่จะใช้ตอบโต้กับวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ ซึ่งการลงทุนจะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่าอย่างไรก็ดีความรุนแรงของผลกระทบโควิด ทำให้ประมาณการณ์ว่าจะมีคนไทยยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ส่วนมาตรการการคลังและมาตรการการเงินที่ภาครัฐดำเนินการไปในช่วงที่ผ่านมาซึ่งคิดเป็น 13% ของจีดีพี ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีงบประมาณสูงสำหรับออกมาตรการช่วยเหลือ
โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน หรือมาตรการช่วยเหลือด้านซอฟต์โลน ของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังทำได้ไม่ตามเป้า ดังนั้นควรมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีและบริษัทที่ขาดสภาพคล่อง สำหรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 4% และปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.7%
โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและค่อนข้างนานโดยใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปใกล้เคียงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด แต่อย่างไรก็ดีหากโควิดยังมีการแพร่ระบาดอยู่ จนเป็นผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการรุนแรง หรือล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นไตรมาส 2 ปีที่แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.4% เนื่องจากจะมีการสูญเสียรายได้สูงถึง 50 แสนล้านบาท หรือราว 20% ของจีดีพี ทั้งนี้การฟื้นตัวของจีดีพีไทยในปี 2564-2565 หลักๆ จะมาจากเศรษฐกิจในประเทศ
และการลงทุนของภาครัฐ ส่วนการส่งออกและรายได้จากการบริการ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวยังอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงต้องรอผลของการฉีดวัคซีนในต่างประเทศด้วย ขณะที่เงินเฟ้อ 1.3% บัญชีเดินสัพัดอยู่ที่ 2-4% หนี้สาธารณะขยับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ภายใต้กรอบ 60% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งในระดับโลก คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจช้ากว่าที่คาด โดยล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกลดลง
เนื่องการกลับทาระบาดของโควิดในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก การส่งวัคซีนช้ากว่าที่คาด ทำให้อาจมรฝีการขยายเวลาล็อคดาวน์มากขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อาจทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยบวกคือการกระจายวัคซีนเร็วขึ้นทั้งในระดับโลกและไทย การแพร่ระบาดของโควิดดีขึ้น เนื่องจากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีในแง่ของผลกระทบต่อแรงงาน จากโควิดช่วงไตรมาส 2 ปี 1563 ทำให้งานหายไป 3.4 แสนตำแหน่ง
และชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น 9% ขณะที่ค่าจ้างลดลง 1.6% ขณะที่ในไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 ปีที่แล้ว สถานการณ์แรงงานเริ่มดีขึ้นและทำให้จำนวนงานเพิ่มขึ้น 8.5 แสนตำแหน่ง แต่ยังมีจุดอ่อนคือ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างในภาคการเกษตรยังต่ำกว่าในปี 2562 ส่วนการเกิดขึ้นของโควิดซ้ำเติมความท้าทายเดิมที่มีอยู่แล้วในตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่อ่อนแอลง
และแรงงานนอกระบบ รวมถึงในระยะกลางยังต้องเผชิญปัญหาประชากรสูงอายุด้วย ทั้งนี้ข้อเสนอเพื่อช่วยประสิทธิภาพของแรงงานโดยรวม ในระยะสั้นแนะนำให้ขยายการคุ้มครองเพื่อช่วยแรงงานที่ตกงาน ผ่านมาตรการเยียวยาด้านการเงินและช่วยฝึกทักษะอาชีพสำหรับผู้ตกงาน ส่วนมาตรการระยะยาวคือการเพิ่มด้านประสิทธิภาพการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ การลดช่องว่างระหว่าแรงงานผู้หญิงกับแรงงานชาย ตลอดจนแนะนำให้ขยายเวลาการเกษียณอายุออกไปอีก เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ
ขอบคุณ ข่าวสด