ประกาศ 6 ฉบับ สถานการณ์ฉุกเฉินฯ สั่งห้าม ให้อำนาจ สัญญาบัตร ค้นทุกที่ เรียกบุคคลรายงานตัว
หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกประกาศ 6 ฉบับ เครื่องมือคุมสถานการณ์ชุมนุมการเมือง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเช้าวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมอบหมาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในการกำกับ ควบคุม การแก้ไขสถานการณ์
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ในฐานะ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกประกาศฯเพื่อกำกับควบคุมสถานการณ์ จนถึงวันนี้(18 ตุลาคม 2563) แล้ว 6 ฉบับ อาทิการกำหนดควบคุมยานพาหนะ ห้ามเข้าพื้นที่ การกำหนดที่ควบคุมตัว ฯลฯ
ขณะที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 3 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจตรวจค้นตามพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใจความว่า เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรงยุติลงโดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิด เหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่า มีอำนาจตรวจค้นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางใด ๆ ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563
ขณะเดียวกันราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 5 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุมและควบคุม และมีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคล ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมอบหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรที่มียศตั้งแต่ ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี นายตำรวจสัญญาบัตร ที่มีชั้นยศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรี หรือพนักงานฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นผู้มีอำนาจ
ดังนี้ ข้อ 1 ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือ หลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วให้รายงานผู้บังคับบัญชาและรายงานกองอำนวยการร่วม แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทราบโดยทันที ข้อ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญา เพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัย ตามมาตรา 11 (1) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อดำเนินการแล้วให้รายงานกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทราบโดยด่วน โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้ 16 ตุลาคม 2563
ขอบคุณ pptvhd36