สุดยอดไอเดีย แก้ปัญหาญาติโยมยืนรอใส่บาตรนาน
เมื่อวันที่ 5 ตค 63 เพจ Origimon ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ไอเดีย แก้ปัญหาญาติโยมยืนรอใส่บาตรนาน ด้วยการคิดค้นฝาบาตรติด GPS เช็คตำแหน่งหลวงพ่อได้แบบรีลไทม์ ผลงานเด็ดจากน้องๆนักเรียน ม.ปลาย สามคน จากลำพูน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศชิ้นนี้ ใช้ชื่อว่า ตักบาตร เติมบุญ
น้องๆได้ไอเดียมาจากที่คนสมัยนี้มีความลำบากในการตักบาตรพระ ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่ง จึงไม่มีเวลามายืนรอพระนานๆ ซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเมื่อไรจะมาถึงหน้าบ้านอีกด้วย น้องๆเลยออกแบบระบบติดตามพระ ให้สามารถเช็คตำแหน่งของพระรูปที่ต้องการได้จากแอปในมือถือ
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้วิถีปฏิบัติของพระท่านต้องยุ่งย ากมากขึ้นในการพกพา GPS น้องๆก็เลยออกแบบฝาบาตรใหม่ให้หลวงพ่อซะเลย โดยใช้ 3D Printer พิมพ์แบบฝาบาตรขึ้น ใช้สัดส่วนเท่ากับฝาบาตรจริง แล้วก็ประกอบร่างอุปกรณ์ GPS พร้อมแบตเตอรี่ลงบนฝาบาตรนั้น สามารถใช้ฝาบาตรนี้ทดแทนฝาบาตรปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย จากนั้นน้องๆก็ได้พัฒนาเวปสำหรับเก็บข้อมูลพิกัดหลวงพ่อที่เก็บได้พร้อมกันหลายๆรูป หลายๆวัดขึ้น แล้วเขียนแอปบน Andriod ให้สามารถแสดงตำแหน่งหลวงพ่อได้ในรีลไทม์
โดยสามารถเลือกแสดงผลเฉพาะหลวงพ่อองค์ไหน หรือจากวัดไหนก็ได้ ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ น้องๆได้เอาฝาบาตรนี้ไปลองใช้จริง แล้วก็พบปัญหาเรื่องความหนักของแบตเตอรี่ ก็เลยกลับมาออกแบบใหม่ ลดขนาดแบตเตอรี่ลง โดยใช้โครงสร้างเดิมที่ออกแบบไว้แล้ว
พอเอาไปให้กรรมการดูก็มีคอมเมนต์ว่าให้ระวังเรื่องความสะอาดของฝาบาตรและอันตรายของพลาสติกที่เอามาใช้กับอาหาร น้องๆจึงไปค้นคว้าหาพลาสติกที่เป็น food grade ที่ทดสอบแล้วว่าใช้ได้ ไม่เป็นอันตรายกับอาหารที่ใช้รับประทาน แล้วนำมาทำฝาปิดด้านล่างเพิ่ม ทำให้ส่วนนี้สัมผัสกับอาหารได้ ไม่มีอันตราย แถมยังถอดล้างเพื่อรักษาความสะอาดได้ด้วย เสร็จแล้วน้องๆจึงนำกลับไปให้หลวงพี่ทดสอบการใช้งานจริง และติดตั้งแอปที่เขียนขึ้นมาเองให้กับญาติโยมที่รอใส่บาตร แล้วประเมินผลความพึงพอใจจากญาติโยมเหล่านั้นด้วย
ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งด้านความแม่นยำของตำแหน่งของหลวงพี่ และความง่ายดายในการใช้งานแอป ขอปรบมือแสดงความชื่นชมกับ น้องบารมี ปัญญาเฟือน น้องศุชานุช รินคำ น้องกณิศนันท์ ทองสกุล และอาจารย์ปกรณ์ กสินฤกษ์ จากโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จากลำพูน
และขอแสดงความยินดีกับรางวัลที่ได้รับ รวมถึงโอกาสที่จะได้เข้าชมการพัฒนานวัตกรรมที่ประเทศไต้หวันในเร็วๆนี้ด้วย
น้องๆไม่ได้คิดประดิษฐ์นวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างเดียว แต่กระบวนการทำงานต่างๆของน้องๆ ตั้งแต่การคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่ไปมีผลกระทบกับวิถีชุมชน การใช้เครื่องมือวัดทำการวัดฝาบาตรอย่างละเอียด ออกแบบ 3D เอง ใช้ทั้งเครื่งง 3D Printer และเครื่อง Laser Cut ผลิตต้นแบบออกมาเอง เครื่องเหล่านี้ทางโรงเรียนได้รับมาจากโครงการ fablab ของ สวทช.
นอกจากนี้ยังออกแบบระบบวงจรการส่งข้อมูล GPS ออกแบบ APP สำหรับญาติโยม และออกแบบระบบเบื้องหลังที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อมาแสดงผลบน APP แถมยังออกแบบโลโก้น่ารักๆที่สกรีนขึ้นมาบนฝาบาตรพร้อมกับ QR Code ให้ download App มาใช้ได้ด้วย
ขอบคุณ Origimon