หมอยง เตือนหากเข้าหน้าฝน หนักแน่ แนะ 4 มาตรการลดแพร่กระจาย
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 63 ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ นพ ยง ภู่วรวรรณ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด โดยได้แนะนำหลักปฏิบัติ 4 ข้อ ที่ต้องทำเพื่อหยุดการลุกลามของโรค โดยโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
โควิดการลดการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย
มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เราสามารถลดการแพร่กระจายของโรคมาได้ระดับหนึ่ง จากอำนาจการแพร่กระจายปกติ R₀ = 2.5 (1 คน แพร่โรคต่อ 2.5 คน) ลดลงเหลือ R₀ = 1.5 (1 คนแพร่ไป 1.5 คน) อัตราดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจ เราจะต้องลดให้เป็น 1 หรือน้อยกว่า 1 ให้ได้ เราต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น จึงจะควบคุมโรคได้ มาตรการทั้งหมดจะต้องประกอบไปด้วย
1 วินิจฉัยโรคให้ได้รวดเร็ว และให้ได้มากที่สุด โดยการตรวจผู้สัมผัส ผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น และต้องออกผลให้รวดเร็ว ตรวจจำนวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม กักกัน ไม่ให้โรคแพร่กระจาย ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ควบคุม ไม่ให้เกิดอาการมาก หรือรุนแรงโดยรักษาแต่เริ่มแรกรวดเร็ว และต้องการลดการแพร่กระจายโรคได้ รวมทั้งผู้ที่รักษาหาย จะต้องมั่นในว่า จะพ้นระยะและไม่ไปแพร่กระจายโรคได้
2 ลดความเสี่ยงในการติดโรคของคนทั่วไป ตั้งแต่สุขอนามัย ล้างมือ กินร้อนที่รู้จักกันดี ไปจนถึง Physical Distancing กำหนดระยะห่างของบุคคล สังคม ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่ว่านอกบ้าน ในบ้าน การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคและลดการติดต่อ
3 ลดการเคลื่อนที่ของประชากร ลดการสัมผัสโรคด้วยการอยู่บ้าน และจะต้องทำให้มากที่สุด ในการลดประชากรที่จะไปสัมผัสโรค การเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ การมีมาตรการเข้มงวดในการเคลื่อนที่ การเดินทางของประชาชน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
4 การมีระเบียบวินัย เมื่อเปรียบเทียบ จีน กับประเทศประชาธิปไตยทางตะวันตกแล้ว จีนมีระเบียบวินัยมากกว่า สามารรถควบคุมโรคได้จนไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ยกเว้นผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะความมีระเบียบวินัย มาตรการทั้งหมดจะต้องเข้มข้นขึ้น ก่อนเข้า ฤดูฝน ที่จะเป็นฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ ไม่เช่นนั้นเราจะยิ่งแยกยากระหว่างโรคโควิด กับโรคทางเดินหายใจอื่น จะสร้างปัญหากับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
คำแนะนำของหมอยง
อย่างไรก็ตามถ้าไม่จำเป็น อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
ขอบคุณ นพ ยง ภู่วรวรรณ