
กรมโยธาฯ สั่งปิด ตึกทศมินทราธิราช รพ.ราชวิถี หลังเจอรอยกะเทาะแตก จนเห็นเหล็ก
วันที่ 29 มี.ค. 2568 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยตัวแทนจากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แถลงความเคลื่อนไหวภายหลังจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่หลักของวิศวกรคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะอาคารที่สร้างเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่มีการพังทลายออกมา มีเพียงรอยแตกร้าว นี่คือสิ่งที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ฝากให้สภาวิศวกรฯช่วยไปตรวจสอบ และให้สภาวะกลับคืนสู่ปกติ ส่วนอาคารใดที่เสียหายรุนแรงก็ต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและซ่อมแซม
จะสั่งการให้ตรวจสอบอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ในส่วนอาคารของประชาชน วิศวกรรมสถานและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจะเข้ามาช่วย ส่วนอาคารราชการ โรงพยาบาล สถานศึกษา จะเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง
ด้านนายพงษ์นรา กล่าวว่า จัดตั้งศูนย์เพื่อที่จะรับแจ้งในการตรวจสอบอาคาร มีสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาที่จะร่วมกันดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาตรวจสอบอาคารใน 3 หน่วยงานที่เป็นโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎ และโรงพยาบาลเลิศสิน
โดยขณะนี้มีอาคารของโรงพยาบาลราชวิถี ที่จะต้องระงับการใช้งานทั้งอาคาร โดยเฉพาะอาคารทศมินทราธิราช 20 ชั้น ที่มีการกะเทาะแตก จนเห็นเหล็ก ซึ่งประสานไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะประชุมในทีมของวิศวกร เพื่อวางแผนตรวจสอบอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ หรืออาคารที่รับแจ้งมา โดยวันนี้จะลงพื้นที่ ซึ่งประสานกับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะประสานงานและทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน