พายุฤดูร้อนพัดถล่ม เจ้าของสวนครบุรี ถึงกับเข่าอ่อน

พายุฤดูร้อนพัดถล่ม เจ้าของสวนครบุรี ถึงกับเข่าอ่อน

วันที่ 5 มี.ค. 68 จากเหตุการณ์พายุฤดูร้อนพัดถล่มพื้นที่ ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

นายไสว สายปัญญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำเพียก อ.ครบุรี ได้เร่งนำทีมเจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.ลำเพียก พร้อม เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี และฝ่ายปกครองอำเภอครบุรี ออกสำรวจพื้นที่ความเสียหายพายุพัดถล่ม เพื่อเตรียมดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ

ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบ้างเล็กน้อย แต่สวนผลไม้ของเกษตรกรหลายหมู่บ้าน ถูกลมพายุพัดหักโค่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสวนทุเรียนในหมู่บ้านซับระวิง และบ้านไร่แหลมทอง ต.ลำเพียก ซึ่งช่วงนี้ต้นทุเรียนที่กำลังติดดอกออกผล กลับถูกพายุพัดหักโค่นเสียหายไปเกือบ 300 ต้น

อย่างเช่น สวนศรสวัสดิ์ บ้านไร่แหลมทอง หมู่ที่ 5 ต.ลำเพียก อ.ครบุรี ของนางบัวสอน ชมตา อายุ 61 ปี ที่ปลูกทุเรียนมายาวนานเกือบ 15 ปี แต่มาถูกลมพายุพัดถล่มวันเดียว หักโค่นได้รับความเสียหายไป 102 ต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท

นางบัวสอน เปิดเผยว่า เกิดลมพายุและฝนกระหน่ำอย่างรุนแรงนานนับชั่วโมง พอพายุสงบ ฝนหยุดตก ตนรีบขับรถจากบ้านพักที่อยู่ในตัวหมู่บ้าน ออกมาดูทุเรียนที่สวน และเมื่อมาถึงสาวน ก็ถึงกับเข้าอ่อน จะเป็นลม เพราะพายุพัดต้นทุเรียนหักโค่นเสียหายเกือบทั้งสวน

ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จะเป็นทุเรียนที่ปลูกเอาไว้นานเกือบ 15 ปีแล้ว แต่กลับมาถูกลมพายุพัดถล่มหักโค่นเสียหาย ซึ่งมีทั้งหักโค่นทั้งต้น หักโค่นกลางต้น และกิ่งก้านหักฉีกขาด รวม 102 ต้น จากจำนวนต้นทุเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด 400 ต้น และทุกต้นกำลังติดดอกออกผล เตรียมจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนบำรุงผลแล้ว

หากคิดเป็นมูลค่าเฉพาะผลผลิตที่จะได้ในแต่ละปี ก็จะอยู่ที่ประมาณต้นละ 4 หมื่นบาท ยังไม่รวมมูลค่าอายุของต้นที่ดูแลประคบประหงมมานานเกือบ 15 ปี ที่ให้ผลผลิตประมาณ 80 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม เมื่อเก็บผลผลิตในสวนออกขาย จะมีรายได้กว่าล้านบาทเลยทีเดียว

แต่พอมาเห็นต้นทุเรียนหักเสียหายแบบนี้ ทำใจไม่ได้ มันเหนื่อย หมดแรงจริงๆ ต้นที่หักโค่นทั้งต้นก็ต้องตัดตอทิ้งเท่านั้น ส่วนต้นที่หักเล็กน้อย หรือยอดหัก ก็ยังพออยู่ได้ แต่ต้องบำรุงดูแลใหม่ กว่าจะฟื้นให้ผลผลิตก็ต้องใช้เวลานานหลายปี”

ด้านนายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตอนนี้มีการรายงานพื้นที่ความเสียหายจากพายุฤดูร้อนมาให้ทราบเพียงบางอำเภอเท่านั้น โดยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นมา มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 1 หลัง ที่ อ.เมืองยาง

ส่วนที่ อ.สูงเนิน มีรายงานเข้ามาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 14 หลัง และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ อ.ชุมพวง มีบ้านเรือนเสียหาย จำนวน 8 หลัง ซึ่งพื้นที่อื่นๆ อาทิ อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว สีคิ้ว ปักธงชัย เป็นต้น

ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าดูแลสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อนตามอำนาจหน้าที่ แต่ถ้าเกินกำลัง ท้องถิ่นมีงบประมาณช่วยเหลือไม่เพียงพอ ก็จะร้องขอความช่วยเหลือขอใช้งบทำรองราชการหรือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของทางจังหวัด เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ