ด่วน! พบสารเคมีอันตราย ไม่ได้รับอนุญาต ซุกอยู่โกดังในอยุธยา

ด่วน! พบสารเคมีอันตราย ไม่ได้รับอนุญาต ซุกอยู่โกดังในอยุธยา

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารโกดัง ในตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังได้รับแจ้งจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุได้รับเรื่องร้องเรียนกรณี พบการลักลอบเก็บสารเคมีอันตรายหลายชนิด ภายในโกดังดังกล่าว ซึ่งคาดว่าอาจเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า อาคารโกดังขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร มีชาวจีนตกลงทำสัญญาเช่า ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-31 ตุลาคม 2568 โดยภายในมีการแบ่งบรรจุสารเคมีหลายชนิดลงในบรรจุภัณฑ์ พร้อมติดป้ายเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งพบร่องรอยการล้างถังภาชนะบรรจุสารเคมีด้วยน้ำเปล่า เมื่อทดสอบวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ภายในแกลลอนบรรจุสารเคมี มีค่าเท่ากับ 1 เข้าข่ายอาจมีคุณลักษณะเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ตามบัญชี 5.2 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556

นายพรยศ กล่าวว่า โดยมีการระบุชื่อสารเคมีบนภาชนะบรรจุ ดังนี้ 1.กรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid) บรรจุแกลอน ขนาด 25 ลิตร จำนวน 104 แกลลอน 2.ไทโอยูเรีย (thiourea) บรรจุกระสอบ ขนาด 25 กก. จำนวน 19 กระสอบ 3.โซเดียมไฮดรอกไซด์ (sodium hydroxide) บรรจุแกลอน ขนาด 25 ลิตร จำนวน 3 แกลลอน 4.Sulfuric acid บรรจุแกลอน ขนาด 25 ลิตร จำนวน 22 แกลลอน 5.Hydrochloric acid บรรจุถัง IBC ขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 4 ถัง (ไม่ทราบความเข้มข้น) 6.Sulfuric acid บรรจุถัง IBC ขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 3 ถัง 7.Citric acid monohydrate บรรจุกระสอบ ขนาด 25 กิโลกรัม จำนวน 16 กระสอบ โดยแกลลอน 25 ลิตร บรรจุของเหลวไม่ติดฉลาก จำนวน 117 แกลลอน

ทั้งนี้ อาคารโกดังแห่งนี้ ไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงการอนุญาตให้ครอบครองวัตถุอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 54(3) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ดำเนินการยึดอายัดวัสดุ สิ่งของ และอื่น ๆ โดยตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้สุ่มเก็บตัวอย่างสารเคมีเพื่อส่งมอบให้ตรวจสอบโดยละเอียดเพิ่มเติม

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำข้อมูลเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ สถานีตำรวจภูธรอุทัย ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งข้อหาอื่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ