ไข้หวัดใหญ่ ระบาดรุนแรง พบป่วยเกิน 1 แสนราย เสียชีวิต 9 ราย

ไข้หวัดใหญ่ ระบาดรุนแรง พบป่วยเกิน 1 แสนราย เสียชีวิต 9 ราย

วันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว รู้ทันโรค รู้ทันภัย ป้องกันได้ว่า สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 14 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 9,158 ราย อัตราป่วย 14.10 ต่อประชากรแสนคน

โดยกลุ่มอายุที่พบการป่วยสูงสุดคือ เด็ก 0-4 ขวบ, อายุ 30-39 ปี และ อายุ 20-29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.006 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 พบว่า อัตราป่วยปี 2568 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตามมีการพยากรณ์โรคโควิด-19 ในปี 2568 คาดว่ามีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 จะพบราว 551,182 ราย ผู้เสียชีวิต 220 ราย

ด้าน พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย คิดอัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.008 แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี

โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ อายุ 5-9 ปี, อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ร้อยละ 41.38 รองมาคือ สายพันธุ์ B ร้อยละ 37.9 และ A/H3N2 ร้อยละ 26.72 ทั้งนี้ การระบาดมักพบในโรงเรียนถึง 11 เหตุการณ์ เรือนจำ 3 เหตุการณ์ ค่าทหาร 2 เหตุการณ์

โรคไข้หวัดใหญ่เกินการคาดการณ์ของเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ค่อนข้างระบาดเยอะ ข้อมูลการป่วยตายน้อยกว่าโรคโควิด-19 แต่อัตราระบาดสูงกว่า ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ป่วยเด็กวัยเรียน แต่อัตราตายพบสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ เหมือนกับโรคโควิด-19 อย่างผู้เสียชีวิต 9 รายนั้น พบตั้งแต่เด็กอายุ 11 ปี สูงสุด 86 ปี โดยจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว 8 ราย เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และทั้ง 9 รายไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน

การพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2568 คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2567 โดยจะพบสูงในฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม และช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือน มกราคม - มีนาคม คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 903,446 ราย ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่จะกดอัตราป่วยให้ลดลง และมีคำแนะนำประชาชนให้รับวัคซีนป้องกันปีละ 1 ครั้ง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากพบว่ามีอาการป่วยให้หยุดพักจนกว่าจะหาย และสวมหน้ากากอนามัยเสมอ

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดแบ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ครอบคลุม 4 สายพันธุ์เป็น A และ B อย่างละ 2 สายพันธุ์ และขั้วโลกใต้ ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ เป็น A จำนวน 2 สายพันธุ์ และ B จำนวน 1 สายพันธุ์

โดยปัจจุบันที่ไทยฉีดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม จะเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ส่วนสายพันธุ์ขั้วโลกใต้จะเป็นช่วง 6 เดือนถัดมาคือ ตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน โดยยืนยันว่า วัคซีนที่ฉีดในปัจจุบันครอบคลุมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วงนี้ คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ