บุกทลายโรงงานเถื่อน พบวัตถุอันตราย-สารปนเปื้อน
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.67 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.อ.วิญญู แจ่มใส ผกก.2 บก.ปทส. พ.ต.ต.นัธทวัฒน์ สุรนารถ สว.กก.2 บก.ปทส., ร.ต.ท.ปิยะกมล แสงอร่าม รอง สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปทส. พร้อมกับพวกชุดปฏิบัติการ 4 กก.2 บก.ปทส.ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันจับกุม นายนิราชฯ อายุ 22 ปี สัญชาติอินเดีย อายุ 46 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน“ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (จำพวกที่ 3) โดยไม่ได้รับอนุญาต
พร้อมตรวจยึดของกลาง 1.รถโฟล์คลิฟท์ขนาด 50 แรงม้า 1 คัน 2.เครื่องย่อยเศษพลาสติก ขนาด 50 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 3.เครื่องทำเม็ดพลาสติก ขนาด 50 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 4.เครื่องย่อยพลาสติก 12 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 5.เครื่องบรรจุเม็ดพลาสติกขนาด 15 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 6.ปั้มลมขนาด 3 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 7.เครื่องทำเม็ดพลาสติก 100 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 8.เครื่องทำเม็ดพลาสติก 100 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 9.เครื่องย่อยพลาสติก ขนาด 5 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 10.เครื่องบรรจุถุงขนาด 3 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 11.รถโฟล์คลิฟท์ขนาด 50 แรงม้า จำนวน 1 คัน 12.เครื่องบดย่อยเศษพลาสติกขนาด 75 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง 13.เครื่องบดย่อยเศษพลาสติกขนาด 100 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง โดยจับกุมภายในบริษัท เปิดให้เช่าโกดัง หมู่ที่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
พฤติการณ์ กก.2 บก.ปทส. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบ บริษัท ในพื้นหมู่ที่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา มีลักษณะเปิดโกดังให้เช่า โดยให้นายทุนจีนมาใช้โกดังตั้งและประกอบโรงงาน จากการตรวจสอบเบื้องต้นโกดังดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด ต่อมา จึงได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำหมายค้นศาลจังหวัดฉะเชิงเทราที่ 110-112 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เข้าตรวจสอบ โกดังทั้ง 10 โกดัง ของบริษัท เปิดให้เช่าโกดัง หมู่ที่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ผลการตรวจค้นพบ การตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 9 โกดัง
โดยได้จับกุมนายนิราชฯ จากกการตรวจค้น 1 ใน 10 โกดัง โดยจากการตรวจสอบพบว่า ในบริเวณโกดังที่ 6 ได้ทำการประกอบกิจการโรงงานในลักษณะคัดแยกสิ่งของที่เป็นพลาสติก เจ้าหน้าที่พบเห็น นายนิราชฯ อยู่ภายในโกดัง โดยแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่าตนทำหน้าที่เป็นวิศวกรติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโกดัง พบอุปกรณ์เครื่องจักรที่อยู่ในโกดัง โดยนายนิราชฯ รับว่าตนเป็นผู้ติดตั้งและใช้เครื่องจักร เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สอบถามนายนิราชฯ ว่าได้ขออนุญาตตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 หรือไม่ นายนิราชฯ แจ้งว่าไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานแต่อย่างใด
คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกจับกุมเป็นความผิดเนื่องจากเครื่องจักร์และอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ภายในโกดัง ที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของผู้ถูกจับกุม จึงได้ร่วมกันแจ้งข้อหา “ตั้งโรงงาน, ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต” สอบถามผู้ต้องหาให้การ ปฏิเสธข้อกล่าวหา คณะเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้จับกุมทราบแล้วว่าตนต้องถูกจับกุมและควบคุมตัวไปยัง ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ โดยจะได้นำตัวผู้ถูกจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
จากการตรวจค้นโกดัง ทั้ง 10 โกดัง พบมีการตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 โกดัง ส่วนใหญ่พบเป็นโรงงานจำพวกรีไซเคิล ประเภท 106 และยังพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 อยู่ภายในบริเวณโกดัง จำนวน 5 โกดัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และสารหนู ผสมอยู่ เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีวัตถุอันตราย พ.ศ.2546 ตามบัญชี 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ
ลำดับที่ 2.2 ของเสียที่มีองค์ประกอบหรือสารปนเปื้อนดังต่อไปนี้ พลวงและสารประกอบพลวง แบริเรียมและสารประกอบแบริเรียม แคดเมียมและสารประกอบแคดเมียม ตะกั่วและสารประกอบตะกั่ว ซีลีเนียมและสารประกอบซีลีเนียม เทลูเรียมและสารประกอบเทลูเรียม (ไม่รวมของเสียในรูปก้อนโลหะ) และลำดับที่ 2.3 ของเสียที่มีองค์ประกอบและสารปนเปื้อนดังต่อไปนี้ สารหนูและสารประกอบสารหนู ปรอทและสารประกอบปรอท แทลเลียมและสารประกอบแทลเลียม
และลำดับที่ 2.4 ของเสียที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ โลหะคาร์บอนิล สารประกอบโครเมียมเฮกซาวาเลนท์ ซึ่งมีความผิดตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ในข้อหา “ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต” จึงได้ทำการยึดอายัดเครื่องจักร และวัตถุอันตรายที่พบไว้ทั้งหมด และจะได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าของโกดัง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโกดังต่อไป
ทั้งนี้ ตะกั่ว และสารหนู หากไม่มีการบริหารจัดการกากของเสียที่ดี จะทำให้เกิดการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้ ทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนในอาหารสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่อนุญาตให้บริโภคได้อย่างปลอดภัย ถ้าคนหรือสัตว์เลี้ยงที่บริโภคอาหารและน้ำที่มีโลหะหนักปนเปื้อนเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดการสะสมและอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้