เภสัชกรสาว บอกเหตุผล เปิดร้านขายยา 6 เดือน ขายดี แต่ต้องปิดกิจการ
ผู้ใช้บัญชี TikTok ชื่อ pharmacist_pear หรือร้านขายยาเภสัชแพร จ.ศรีสะเกษ มีการเล่าประสบการณ์การเซ้งร้านขายยา แต่ผลที่ได้ไม่ได้ดีเสมอไป "เซ้ง = เจ๊ง เข็ดแล้วชีวิตนี้"
ปลายปี 2566 เภสัชแพรไปเจอการประกาศเซ้งร้านขายยาในตัวจังหวัดศรีสะเกษ ราคาถูกมาก แถมมียา มีแอร์โฟลว์ รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้ธุรกิจเริ่มจากศูนย์ เธอเห็นแล้วก็สนใจ จึงเข้าไปคุยกับเจ้าของร้าน จนได้รับข้อมูลอย่างละเอียดยิบว่า สินค้ามีอะไรบ้าง ลูกค้าแต่ละช่วงเวลามีเท่าไร ฯลฯ ส่วนสาเหตุที่เจ้าของคนเก่าจะขาย เพราะต้องย้ายภูมิลำเนา
ส่วนเภสัชแพร มองว่า ร้านนี้ขอแค่รีโนเวต ทำให้ทันสมัยขึ้น เติมอุปกรณ์ยา น่าจะไปต่อได้ยาว ๆ อีกทั้งเป็นร้านในตัวเมือง โอกาสแป้กนั้นมีน้อย
เมื่อเปิดร้านในช่วงแรก ยอดขายไม่ตรงตามเป้า คิดว่า คนยังไม่รู้จัก เภสัชแพรเลยอัดป้ายโฆษณาในหลายพื้นที่ของเมือง ให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยอดขายจึงเพิ่มขึ้นมาจากร้านเดิมถึง 4 เท่า แต่โดยรวมก็ยังขาดทุนอยู่ดี
เภสัชแพร แก้ไขปัญหานี้ด้วยการขยายเวลาการเปิดร้าน จากเดิมเปิดตอน 9 โมงถึง 3 ทุ่ม ก็เปิดให้เร็วขึ้นตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่ก็ยังไม่รอด กระทั่งผ่านไป 6 เดือน เริ่มทนภาวะนี้ไม่ไหว ค่าใช้จ่ายหลักที่เสียไปคือ ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเช่า ค่าพนักงาน จนในที่สุดก็ปิดร้าน
บทเรียนเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ต่อให้ทำร้านมาดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ใช่เส้นทางหลักที่คนสัญจร ก็เตรียมปิดร้านได้เลย
ประเด็นหนึ่งที่ชาวเน็ตสงสัยคือ ทำไมขายได้มากกว่าเดิม 4 เท่า แต่ร้านก็ยังเจ๊ง ทางเภสัชแพรเข้ามาตอบ สามารถสรุปได้หลายข้อ ดังนี้
1. ค่าจ้างเภสัชกรมาทำงานค่อนข้างสูง ต้องจ้างประจำ ทำงานตลอดทั้งวัน ทำให้ทุนจมตรงนี้ แต่ชาวเน็ตก็มองว่า ทำไมไม่เฝ้าร้านเอง อย่างน้อยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานไปได้เยอะ เพราะยังไงเจ้าของร้านก็เป็นเภสัชกรอยู่แล้ว
2. ร้านสวยเกินไป ดูทันสมัย ทำให้ชาวบ้านต่างจังหวัดไม่กล้าเข้า เพราะคิดว่ายาแพงกว่าร้านเก่า ๆ ของคนในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะแก้ได้ด้วยการ ติดป้ายหน้าร้านบอกว่า ราคาถูกก็เป็นได้
3. ปัญหาที่จอดรถ ค่อนข้างจอดยาก เพราะจอดได้เฉพาะวันคู่หรือไม่ก็วันคี่ ขึ้นอยู่กับฝั่งถนน เรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้ามีที่จอดรถสะดวก อย่างน้อยคนก็ไม่ขับผ่านร้านอย่างง่าย ๆ แน่นอน
4. พื้นที่ภายในร้านไม่เหมาะสม หน้าร้านแคบเกินไป ในร้านยาวและลึก
5. พฤติกรรมของลูกค้าภาคอีสาน ชอบไปหาหมอประจำตำบล ประจำจังหวัดมากกว่ามาร้านขายยา