ศาลยกฟ้อง มัมดิว-หนูรัตน์ คดี ม.112

ศาลยกฟ้อง มัมดิว-หนูรัตน์ คดี ม.112

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดูหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.1405/2566 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ มัมดิว (หลบหนีลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี) น.ส.สุภัคชญา ชาวคูเวียง หรือ หนูรัตน์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด โดย น.ส.ฐิตานันท์ เหล่าวีระพัชร และนายวริศชา หรือเรืองโรจน์ ศรีงาม กรรมการผู้มีอำนาจ และบริษัท ลาซาด้า จำกัด โดยนางสุชาดา รังสิคุต กรรมการผู้มีอำนาจ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นเบื้องสูง, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

กรณีเมื่อวันที่ 3-5 พ.ค.2565 พวกจำเลยได้ทำแคมเปญโฆษณาลาซาด้า 5.5 ร่วมกับ นายอนิวัติ ประทุมถิ่น หรือ นารา เครปกะเทย เน็ตไอดอลชื่อดัง โดยจำเลยที่ 1-2 แต่งกายเลียนแบบบุคคลเบื้องสูง

จากนั้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายพาดพิงสถาบันเบื้องสูง จากการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้าดังกล่าว ซึ่งพวกจำเลยให้การปฏิเสธ

วันนี้จำเลยที่ 2-4 และทนายความ เดินทางมาศาล และจำเลยที่ 2 ขอใช้สิทธิไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเผยแพร่ภาพ

โดยวันนี้ศาลพิเคราะห์แล้วว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-4 กระทำความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง(3) หรือไม่

เห็นว่าจะต้องพิจารณาก่อนว่าสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นองค์รัชทายาทหรือไม่

ซึ่งคำว่ารัชทายาท ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ผู้จะสืบราชสมบัติและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล

จะเห็นได้ว่าตามความหมายนั้นการเป็นองค์รัชทายาทคือการที่ต้องถูกแต่งตั้งเป็นผู้สืบสันติวงศ์ราชบัลลังก์ต่อไป แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้ง หรือประกาศให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ เป็นรัชทายาท ดังนั้น จึงมิใช่เป็นบุคคล ซึ่งเป็นรัชทายาทในความหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2-4 ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

เห็นว่าคำว่าพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมายถึงตัวบุคคล ดังนั้น การกระทำจำเลยที่ 2-4 จึงขาดองค์ประกอบความผิด จำเลยที่ 2-4 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิเตอร์ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (3) คือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ปัญหาข้อวินิจฉัยต่อมา คือการทำสื่อโฆษณาของจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อดูจากความหมายของการหมิ่นประมาท คือการดูหมิ่นทำให้ผู้อื่นถูกเหยียดหยามเกลียดชัง แต่จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าแม้มีการแต่งกายคล้ายชุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยสวมใส่ และนั่งบนรถเข็น และมีการแนะนำสินค้าเซรั่มให้ทดลองใช้และพูดคุยด้วยคำสุภาพ ไม่มีลักษณะการกระทำที่ดูถูก ดูหมิ่นหรือทำให้เกลียดชัง จึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ปัญหาวินิจฉัยต่อมาคือ จำเลยที่ 3-4 ได้โฆษณาไม่เป็นธรรมส่งผลเสียต่อส่วนรวมหรือไม่ เห็นว่าการทำคลิปเป็นคนพิการ คือการแสดงบทบาทสมมุติและเป็นการทำเพื่อเป็นการขายสินค้า ไม่ได้ดูถูกเหยียดหยามคนพิการ แม้จะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงกับทำให้บุคคลในสังคมแตกแยกแตกสามัคคีกัน อีกทั้งเป็นการพูดคุยเพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้าในช่วงกิจกรรมลดราคา และเงื่อนไขของบริษัท ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานโฆษณาไม่เป็นธรรม

พิพากษา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-4

ทั้งนี้ รายงานว่า คดีนี้พนักงานอัยการคดีอาญา 3 ได้แยกฟ้อง นายอนิวัติ ประทุมถิ่น หรือ นารา เครป กะเทย เน็ตไอดอลชื่อดัง เป็นจำเลยความผิดฐานเดียวกัน คดีหมายเลขดำ อ.2244/2565 กระทั่งวันที่ 21 ธ.ค.66 ศาลอาญาพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่านายอนิวัติไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ