เปิดภาพเส้นทางมรสุมเข้าไทย เตือน 4 จังหวัด เจอฤทธิ์พายุโซนร้อน จ่ามี เตรียมรับมือ
วันที่ 23 ต.ค. 67 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 23 ต.ค.-1 พ.ย.67 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : ยังเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู (ปลายฝนต้นหนาว) ต้องระวังรักษาสุขภาพ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และติดตามพายุหมุนเขตร้อน
ช่วง 23 - 25 ต.ค.67 มวลอากาศเย็นได้แผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนมีฝนลดลง อากาศจะเริ่มเย็นลง ลมทิศเหนือ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม
ส่วนบริเวณภาคใต้ยังมีลมตะวันตกพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ และพายุโซนร้อน "จ่ามี(TRAMI)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 24 -25 ต.ค.67 ทำให้ภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่) ยังมีฝนตกต่อเนื่อง เป็นฝนฟ้าคะนอง ปานกลางถึงหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด
26 ต.ค. - 1 พ.ย. 2567 ยังต้องติดตามพายุโซนร้อน "จ่ามี(TRAMI)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เมื่อเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอล ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว จะเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าใกล้ทางตอนใต้ของเกาะไหลหลำ ประเทศจีน และเข้าเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทางด้านตะวันออกของประเทศเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางด้านหน้าของพายุ ในช่วง 26 - 28 ต.ค.67
แต่อาจจะส่งผลกระทบทำให้ด้านตะวันออกของภาคอีสาน (จ.มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ)ตามแนวขอบของพายุและหย่อมความกดอากาศต่ำ มีเมฆมากและมีฝน กับมีลมแรงบางพื้นที่ ก่อนที่อากาศทั่วไทยจะเริ่มเย็นลง ช่วงวันที่ 30 ต.ค.67 เป็นต้นไป
ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักโดยเฉพาะด้านฝั่งอันดามัน
(ข้อมูลนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามและอัพเดทสถานการณ์ด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย)