เตือนด่วน! มวลน้ำจากเชียงราย กำลังไหลไปอีสาน จังหวัดต่อไปนี้เตรียมเก็บของขึ้นที่สูง
วันที่ 12 ก.ย. 67 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย และอำเภอเมือง จ.เชียงราย ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง หลายพื้นที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนหลายครัวเรือน รวมถึงสัตว์เลี้ยง ไม่สามารถออกมาจากที่พักอาศัยได้ อีกทั้งยังมีรายงานผู้สูญหายและผู้เสียชีวิต
โดยมีรายงานว่า อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนฝนตกหนักที่ฝั่งเมียนมา และตกเต็มพื้นที่ แหล่งข่าว บอกว่า “เราไม่มีสถานีวัดระดับน้ำฝนที่ฝั่งเมียนมาเลย แม้ว่าไทยจะต้องรับน้ำต่อ นี่คือจุดบอดมาตลอด” แต่จุดที่เริ่มวัดได้ในเขตไทย พบว่า ฝนตกวันที่พีคที่สุด วัดระดับน้ำได้ 230 ลบ.ม./วินาที
ส่วนเมื่อคืน (11 ก.ย. 67) ฝนตกอยู่ใน อ.แม่สาย แต่จะไม่หนักเท่า 1-2 วันก่อน น้ำจาก อ.แม่สาย จะไหลไปที่ แม่น้ำรวก ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง และจะกลับเข้าเขตไทยที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก่อนเข้าไปในเขต หลวงพระบาง สปป.ลาว และมวลน้ำก้อนนี้จะกลับมาที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไหลต่อไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ใช้เวลาราว 1-2 วัน
ปัจจุบันที่หลวงพระบาง สปป.ลาว ฝนตกหนักไม่แพ้กัน และคาดการณ์ว่า อ.เชียงคาน จ.เลย จะเจอมวลน้ำก้อนนี้ประมาณวันที่ 11-14 ก.ย. ประชาชนในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังและเก็บของขึ้นที่สูง โดยมีรายงานอีกว่า เขื่อนไซยะบุรี ที่ สปป.ลาว ได้มีการเพิ่มการปล่อยน้ำ เป็น 18,000 ลบ.ม./วินาที แล้ว
มีรายงานว่าระดับน้ำที่ อ.เมือง จ.เชียงราย จะขึ้นต่อเนื่องราว 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมง และระดับน้ำจะพีคสุดๆ ช่วงตี 2 ตี3 และจะเริ่มคงที่ และลดลง น่าจะใช้เวลา 1-2 วันกลับสู่ปกติ ยกเว้นในที่ลุ่มต่ำที่ต้องสูบน้ำออก และน้ำจาก อ.เมือง จ.เชียงราย จะไหลต่อไป อ.เชียงของ ซึ่งคาดว่าระยะเวลาน้ำไหลไปถึงน่าจะใกล้เคียงกับน้ำที่ไหลไปจาก อ.แม่สาย ก่อนเข้า สปป.ลาว และไหลกลับมาเข้าสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสัปดาห์หน้า ช่วงประมาณวันที่ 14 - 28 กันยายน 67 ร่องมรสุมจะพาดผ่านอีสาน และทำให้ฝนตกในอีสาน ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี, จ.อุดรธานี, จ.สกลนคร, จ.นครพนม และ จ.เลย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สถานการณ์ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ที่อ่านค่าฝน ค่าตัวเลข ได้มีการแจ้งเตือนมาแล้ว 2 – 4 วัน แต่ยังคงเป็นที่ตั้งคำถามว่าผู้ที่รับผิดชอบถึงสถานการณ์ดังกล่าว ดำเนินการล่าช้าเกินไปหรือไม่ ที่จะแจ้งเตือนประชาชนให้ทันท่วงที หรือแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่หน่วยงานของรัฐมีอุปกรณ์และเครื่องมืออย่างครบมือ