เตือน 11 จังหวัด ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังมวลน้ำเหนือยังเพิ่มขึ้น
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อนเพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ อีกทั้งยังมีการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปราการด่านสุดท้าย ที่เป็นกุญแจสำคัญก่อนน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ คาดอีก 3-5 วัน มวลน้ำจะทยอยเข้าถึงกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะเร่งระบายมวลน้ำก้อนมหึมาที่มาจากอุทกภัยทางภาคเหนือ จะเป็นการระบายแบบขั้นบันได แต่ยังมีฝนที่ตกอยู่อย่างต่อเนื่องคอยเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นตามฤดูกาล
ทางกรมชลประทาน ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
โดยปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,243 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.39 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 11.42 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 4.92 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,118 ลบ.ม./วินาที จึงส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,086 ลบ.ม./วินาที
นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ได้มีการแจ้งการปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า โดยจะทยอยปรับการระบายน้ำจากเดิม 1,099 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 1,200 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเวลา 12.00 น. เฉลี่ย ชั่วโมงละ 15 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม เตือน 11 จังหวัด ย้ายของขึ้นที่สูง เฝ้าติดตามเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด