เปิดประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ ตำนานเพลงลูกกรุง
ข่าวเศร้าของวงการบันเทิง ชรินทร์ นันทนาคร นักร้อง-นักแสดง ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 67 เวลาประมาณ 02.00 น. ด้วยโรคชราในวัย 91 ปี
เปิดประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ ตำนานเพลงลูกกรุง
โดยประวัติ และผลงานของ อาฉึ่ง หรือ นายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เดิมชื่อ บุญมัย งามเมือง ชื่อเล่น ฉึ่ง เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายบุญเกิด และนางจันทร์ดี งามเมือง เมื่อเยาว์วัยเป็นเด็กขี้โรค แม่จึงนำไปยกให้พระตามความเชื่อในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดท่าสะต๋อย ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ชรินทร์ ด้านชีวิตส่วนตัว
สมรสกับ สปัน เธียรประสิทธิ เมื่อปี พ.ศ. 2500 มีบุตรสาว 2 คน คือ ปัญญชลี เพ็ญชาติ และปัญชนิตย์ นันทนาคร ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ 5 ปี เลิกร้างกัน จากนั้นในปี พ.ศ. 2505 ต่อมาได้สมรสกับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปี พ.ศ. 2512 และอยู่กินกันมาจวบจนปัจจุบัน
การศึกษา
จบการศึกษาวิชาชีพที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ระหว่างเรียนหนังสือที่อัสสัมชัญ เป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักรักบี้ของโรงเรียน แต่ประสบ อุบัติเหตุ สะบ้าเข่าแตกต้องเลิกเล่นกีฬาทุกชนิด
การทำงานระหว่างเรียนอยู่อัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ได้พบกับนายไศล ไกรเลิศ ครูเพลงไทยสากลคนสำคัญในยุคนั้น จึงชักชวนให้ไปเรียนร้องเพลงจนกระทั่งได้ร้องบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกของนายไศล ไกรเลิศ คือ เพลง ดวงใจในฝัน เริ่มมีชื่อเสียงและ มีโอกาสร้องเพลงของนักแต่งเพลงคนอื่น ๆ เช่น นายสมานกาญจนะผลิน โดยเฉพาะเพลงแบบสังคีตประยุกต์ ที่ใช้ดนตรีไทยเดิมบรรเลงร่วมกับดนตรีสากลเป็นครั้งแรก เช่น เพลงนกเขาคู่รัก สัญญารัก ง้อรัก และเชื่อรัก
ผลงานสำคัญ
นายชรินทร์ สร้างสรรค์ผลงานเพลงเป็นอมตะไว้เป็นจำนวนมาก เป็นนักร้องเพลงไทยสากลที่มีเอกลักษณ์การขับร้องเพลงเป็นของตนเอง ในแบบฉบับของเพลงไทยเดิมผสมผสานกับเพลงไทยสากลที่มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อน ด้วย น้ำเสียงที่พลิ้ว มีเสน่ห์ชวนฟัง
ผลงานเพลงสำคัญๆ ของขรินทร์ มีเป็นจำนวนมาก อาทิ นกเขาดู่รัก, ง้อรัก, เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอม, หยาดเพชร, ผู้ชนะสิบทิศ, ข้าวประดับดิน,ทาสเทวี และอาลัยรัก ฯลฯ เพลงเหล่านี้ คือ บทเพลงอมตะที่ยังอยู่ในหัวใจของ นักฟังเพลงมาจนปัจจุบัน
เกียรติคุณที่เคยได้รับ
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ พระราชทานนามสกุลให้ว่า นันทนาคร จึงใช้ชื่อ ชรินทร์นันทนาคร ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2503 เป็นต้นมา ได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง อาลัยรัก
ปี พ.ศ. 2519 ได้รับ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเรื่องแผ่นดินแม่ ในงาน มหกรรมภาพยนตร์แห่งเอเชีย ที่เมือง ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
ปี พ.ศ. 2527 ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ สังข์เงิน สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา
จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายชรินทร์ นันทนาคร เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541