เตรียมรับมือ ร้านอาหารจ่อปิดตัวเพียบ ร้านออนไลน์ก็ไม่รอด แห่ปิดกิจการพุ่ง
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นับจากเดือนพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมผ่านไป มียอดขายตกต่ำมากราว 120%-150% ที่เห็นได้ชัดเจน ร้านอาหารขนาดเล็กเปิดตามห้องแถว และร้านอาหารตามสตรีทฟู้ด เมื่อขาดทุนถึง 3 เดือนติดต่อกัน ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถอยู่ได้ ต้องปิดกิจการ
ไม่เพียงแต่ร้านอาหารที่มีหน้าร้านเท่านั้นที่ปิดกิจการ แต่ช่วงที่ผ่านมา ร้านอาหารบนแพลทฟอร์มออนไลน์ก็ปิดกิจการไปมากนับแสนรายเช่นกัน ถึงช่วงนี้จะเป็นหน้าฝน หรือโลว์ซีซั่นของธุรกิจร้านอาหาร แต่นับต้นปีนี้มาถึงทุกวันนี้ ยอดขายตกลงมากกว่าปกติจนผู้ประกอบการไปต่อไม่ไหว
ภาวะภาพรวมร้านอาหารปิดตัวลงเกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม มียกเว้นบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ เช่น ภูเก็ต ที่ยังไปได้ดี ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจร้านอาหารที่เชียงใหม่ ถึงแม้จะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเช่นกัน แต่ยอดขายซบเซา สาเหตุสำคัญ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แย่ และตลาดหุ้นลดลง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่จะประกาศใช้ในช่วงปลายปีนี้ ค่าแรงดังกล่าวจะเป็นเปัจจัยลบที่ทำร้ายธุรกิจอาหารซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจนำไปสู่การปิดกิจการเพิ่มขึ้นได้ หรือการปรับลดขนาดธุรกิจลงมา ค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบต้นทุนสูงขึ้น และไม่ส่งผลดี
ด้านชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผนว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 67 ปรากฎว่า ธุรกิจร้านอาหารเริ่มทยอยปิดตัวลงไปมากกว่า 40% คาดว่าหากสถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือยังไม่มีการช่วงเหลือจากภาครัฐ คาดว่าปี 67 การปิดตัวร้านอาหารจะเพิ่มขึ้นถึง 50% สอดรับกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการปิดกิจการของธุรกิจในประเทศไทย ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ผ่านมา มีจำนวน 6,039 ราย สำหรับธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร อยู่ใน 3 อันดับของธุรกิจปิดกิจการมากที่สุด
เมื่อย้อนกลับไปดูในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 จากข้อมูลของไลน์แทน วงใน พบว่า ธุรกิจร้านอาหารไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีร้านอาหารเปิดใหม่จำนวน 100,000 ร้าน เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2565 หรือเพิ่มถึง 13.6% โดยมีจำนวน 680,190 ร้าน จากช่วงเดียวกันปีก่อนมี 598,693 ร้าน
สำหรับประเภทของร้านอาหารที่เปิดให้บริการมากสุดในแง่สัดส่วนเรียงตามลำดับ (ช่วงครึ่งแรกของปี 2566) ดังนี้ อาหารตามสั่ง อาหารจานเดียว 17.7% คาเฟ่ ร้านกาแฟ 11% อาหารไทย 10.9% ก๋วยเตี๋ยว 7.1% อาหารอีสาน 6.4% ขนมหวาน 6.2% บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง สุกี้ 6.1% เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ 4.2% และอื่นๆ 30% อย่างไรก็ตาม ประเภทของร้านอาหารที่ชะลอตัวลงลงจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ ฟู้ดทรัค ลดลง 63.8% ข้าวต้มมื้อดึก ลดลง 44.3% พิซซ่า ลดลง 39.2% ซีฟู้ด/ อาหารทะเล ลดลง 36.1% และหมูกระทะ ลดลง 31.7%