ปลาหมอคางดำ ออกทะเลอ่าวไทยแล้ว หลังกินกุ้งหมดบ่อ เกษตรกรไม่รู้ เลยจับทิ้งทะเล
ที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรปราการ หรือ ศรชล.จังหวัดสมุทรปราการ ศรชล.ภาค 1 น.อ.ทิฆัมพร สมนึก รอง.ผอ.ศรชล.จว.สป. เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่น ประมงจังหวัด, อบต.คลองด่าน, เทศบาลตำบลคลองด่าน และภาคประชาชน เช่น สมาคมประมง จ.สมุทรปราการ, สมาคมประมงคลองด่าน รวมถึงผู้แทน สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล
โดยก่อนหน้านี้ นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางลงพื้นที่ไปดูจุดที่ชาวบ้านพบมีการระบาดของปลาหมอคางดำที่คลองตาเจียน หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อสำรวจพื้นที่จริงและนำกลับมาเป็นข้อมูลในการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 2.30 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้น
ด้านเกษตรกรวังกุ้งรายหนึ่ง หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ ได้นำคลิปวีดีโอปลาหมอคางดำที่ถ่ายไว้จากบ่อเลี้ยงกุ้งมาให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมเปิดเผยว่า ตนได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำเมื่อปลายปี 2566 แต่มาหนักสุดเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ปลาหมอคางดำ กิน-ทำลายกุ้ง-หอยที่เลี้ยงไว้ หมดทั้งบ่อ
เกษตรกร กล่าวอีกว่า ตนจับปลาหมอคางดำได้รวมประมาณ 2 ตัน แต่เวลานั้นไม่มีที่ไหนรับซื้อและไม่มีใครให้ข้อมูลใดๆ ตนจึงจำเป็นต้องนำปลาหมดคางดำทั้งหมดทิ้งลงทะเลไป และต้องหยุดทำธุรกิจบ่อกุ้งก่อนอย่างไม่มีกำหนด
เกษตรกร กล่าวต่อว่า ส่วนการมาประชุมวันนี้ เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะถ้าภาครัฐมีการรับซื้อที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ตนคิดว่าน่าจะทำให้ปลาหมอคางดำมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ตนก็จะกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง
นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่ามีชาวประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้นอกเขต 3 ไมล์ทะเล หลังผ่าท้องพบเคยจำนวนมาก กังวลว่าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหนักกับกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐช่วยเร่งดำเนินการหาวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว
นายพิชัย กล่วาต่อว่า ขอให้ผ่อนผันกฎหมายการทำประมงขยายขนาดของเรือ จากไม่เกิน 3 ตันกรอส เป็นไม่เกิน 10 ตันกรอส พร้อมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เป็นผู้กำหนดทั้งรูปแบบ เครื่องมือ พื้นที่และขนาดเรือ เพื่อความคล่องตัวและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
จากนั้นได้พาผู้สื่อข่าวไปดูบริเวณปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ปากอ่าวไทย จุดที่ชาวประมงทอดแหครึ่งชั่วโมง สามารถจับปลาหมอคางดำได้ประมาณครึ่งถังพลาสติกเป็นประจำทุกวัน นำมาเลลงพื้นให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมตั้งข้อสังเกตความห่วงใย ว่าปลาหมอคางดำ อาจจะไปทำลายสัตว์น้ำต่าง ๆ ในทะเลอ่าวไทยจนหมด และอาจขยายวงกว้างไปสู่ทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน สร้างปัญหาอย่างหนัก อาจทำให้สัตว์น้ำในทะเลลึกสูญพันธุ์ได้
ด้านนายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ยอมรับปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำ ของ จ.สมุทรปราการ ระบาดอยู่ในขั้นวิกฤต มีประชาชนแจ้งเข้ามาว่านอกจากพบที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ แล้ว ยังพบอยู่ในพื้นที่ของ อ.เมืองสมุทรปราการ และที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ เพิ่มอีก ดังนั้น จึงต้องการให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วน จะได้เข้ามาร่วมกันจัดการกับปลาหมอคางดำให้หมดไป
นายสมพร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องราคาที่รับซื้อตอนนี้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ และพร้อมดำเนินการในทันที