ทับลาน ไม่ได้ทับคน อดีตรองอธิบดีอุทยานฯ แจงละเอียดยิบ
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นายวิชิต พัฒนโกศัย อดีตรองอธิบดีกรมอุทยานฯ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวภายหลังร่วมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบและทบทวนขั้นตอนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจำนวน 265,000 ไร่ ว่า อุทยานฯ ทับลานในปัจจุบัน เดิมประกอบด้วย พื้นทีป่าวังน้ำเขียว ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ป่าเขาสะโตน ป่าครบุรี มีสถานภาพเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และประกาศเป็นป่าไม้ถาวร เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2506 และเป็นป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2507
ต่อมา ส.ป.ก. ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดิน ในที่กิ่ง อ.นาดี กบินทร์บุรี และ บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 โดยประกาศครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอ แต่ยังไม่มีพื้นที่ป่าจะดำเนินการ ต่อมาปี 2520-2523 รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ โดยให้ ส.ป.ก.ประสานงานกับกรมป่าไม้ขอพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จำนวน 29 ป่ารวมทั้งป่าวังน้ำเขียวไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ซึ่งจะใช้เงินกู้จากธนาคารโลก จัดทำโครงการวังน้ำเขียว พัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง เนื่องจาก พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน 2518 ไม่ได้กำหนดให้ ส.ป.ก. สามารถนำที่ดินในเขตป่าสงวนฯ ที่มีสถานะทางกฎหมายเป็นป่าสงวนฯ ไปดำเนินการออก ส.ป.ก.ได้ จะต้องให้กรมป่าไม้เพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนฯ เสียก่อน
อดีตรองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปี 2521 ส.ป.ก.ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินท้องที่ อ.เมืองนครราชสีมา ปักธงชัย โชคชัย จ.นครราชสีมา เป็นเขตปฏิรูปที่ดินปี 2521 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังไม่มีการเพิกถอนป่าสงวนฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2524 ส.ป.ก.ได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ประเด็นการนำที่ดินป่าสงวนฯ ไปใช้ในการปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ สร 0601/1690 ลงวันที่ 24 ธ.ค.2524 ตอบ ส.ป.ก มีความเห็นสรุปว่า ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจนำที่ดินป่าสงวนฯ ไปใช้ในการปฏิรูปที่ดิน เพราะ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจไว้ หากจะดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องออกกฎกระทรวงเพิกถอนให้เป็นที่ดินนอกเขตป่าสงวนฯก่อน จะจึงจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดที่ดินป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นอุทยานฯ ทับลาน
อดีตรองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค. 2528 ได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1145 เพิกถอนป่าสงวนฯป่าวังน้ำเขียว ที่มีเนื้อที่ 299,772 ไร่ ให้เหลือเพียง 11,721 ไร่ เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งอยู่ในท้องที่ ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พื้นที่ 101,093 ไร่ แต่พื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันยังมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นอุทยานฯ เพราะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นอุทยานฯ ทับลานไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2524 ซึ่งยังไม่ได้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด รวมทั้งพื้นที่บางส่วนอีกจำนวน 186,958 ไร่ ได้นำไปประกาศเป็นอุทยานฯ แล้ว ข้อสังเกตคือการเพิกถอนสภาพป่าสงวนฯ ป่าวังน้ำเขียว จำนวน 101,093 ไร่ แต่ยังไม่ได้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานฯ การนำพื้นที่ไปปฏิรูปที่ดิน จึงไม่สามารถทำได้ เพราะสถานภาพทางกฎหมายยังเป็นอุทยานฯ อยู่ จากการตรวจสอบพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ยังพบว่าได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกร รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานฯ ทับลาน บริเวณป่าสงวนฯ ป่าวังน้ำเขียวเดิมบวมออกไป อีกจำนวน 8,000 ไร่เศษ
นายวิชิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องแนวเขตปี 2543 ตนในฐานะผอ.ส่วนอุทยานฯ กรมป่าไม้ในขณะนั้น ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เข้าไปดำเนินการตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 44/2543 ลงวันที่ 11 ม.ค.2543 แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ท้องที่ จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยมีการรังวัดหาค่าพิกัดจีพีเอส มีการฝังหลักแนวเขต ไว้ ตามแนวเขตที่ราษฎรเข้ามาบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง และแนวเขตที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ให้เกิดความชัดเจน ผลการดำเนินงาน มีพื้นที่บุกรุกจำนวน 273,310 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์อยู่อีก ที่จะต้องผนวกให้เป็นอุทยานฯ เพิ่มเติมจำนวน 110,172 .95 ไร่ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯทับลาน
นายวิชิต กล่าวว่า เวลานั้นสภาฯ เรียกตนเข้าไปชี้แจงว่าประชาชนร้องเรียนว่าอุทยานฯ ทับลานไปประกาศทับที่ชาวบ้าน ผมก็อธิบายว่าพูดว่าอุทยานฯ ทับที่ชาวบ้านไม่ได้ และให้ไปนัดชาวบ้านมาชี้เลยว่าไปทับตรงไหน จากนั้นวันถัดมาก็บินเฮลิคอปเตอร์ลงพื้นที่ ไปเจอ สส.เอาชาวบ้านมาเต็มไปหมด ก็ถามชาวบ้านไปว่าอยู่มาตั้งแต่เมื่อไร พ.ศ.อะไร มีเอกสาร ส.ค. 1 หรือเอกสารสิทธิ์อะไรหรือไม่ ถ้ามีจะยกเลิกเพิกถอนให้ แต่ถ้าไม่มียอมรับก่อนว่าคุณเข้ามาบุกรุกป่า และต้องมาพูดคุยกัน เอาหลักฐานมาดูก่อนแล้วเราจะช่วยให้ ก็บอกว่าไปเดี๋ยวตนจะวัดแนวเขตใหม่ว่าตอนนี้บุกรุกไปถึงไหน ที่เหลือมีเท่าไร และบอกไปว่าห้ามข้ามเขตเข้ามาอีก
เส้นปี 43 เรียกว่าเส้นไปสำรวจเพื่อให้รู้แนวเขตว่าบุกรุกถึงไหน เหลือป่าเท่าไร ไม่ได้หมายความว่าผมจะมารังวัดแล้วเพิกถอน ไม่ได้พูดอย่างนั้น หลังจากรังวัด ฝังหมุดเรียบร้อยก็รายงานไปที่สภาฯ ส่วนจะเห็นประการใดก็เป็นอำนาจของสภาฯ เขาก็เอาเข้าสภาแต่ไม่มีใครเห็นด้วย ถ้าทำทั่วประเทศก็ทำกันได้หมดคนที่รักป่าจริงก็มี จนมาปัจจุบัน คทช. บ้าบอคอแตกจะมาเอาเส้นนี้ไปยกเลิก 2 แสนกว่าไร่ เพื่อให้ ส.ป.ก.ไปออกโฉนด ซึ่งขอให้ไปดูด้วยว่าระเบียบ ส.ป.ก.ที่ออกมานั้นไปขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.ส.ป.ก. 2518 หรือไม่ ถ้าหากมีคนฟ้องก็เจ๊ง เพราะออกระเบียบโดยไม่ชอบ การออกระเบียบต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแม่ ดังนั้นสมาคมฯ จึงขอแสดงจุดยืนคัดค้าน ไม่ให้นำพื้นที่ตามแนวเขตรังวัดปี 2543 ไปยกเลิก เพิกถอน ออกจากอุทยานฯ ทับลานและนำไปออก ส.ป.ก. เวลานี้เห็นใจประชาชนและต้องมาคิดช่วยกันว่าจะช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้จริงๆ อย่างไร และไม่อยากให้มองว่าอุทยานฯ ทับคน เพราะยืนยันว่าป่าอยู่มาก่อน ”นายวิชิตกล่าว