เผยเหตุยื้อชีวิตนักแบด หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่สำเร็จ ดับกลางสนามแข่ง

เผยเหตุยื้อชีวิตนักแบด หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่สำเร็จ ดับกลางสนามแข่ง

จากกรณี จาง จี้เจี๋ย นักแบดมินตันเยาวชนทีมชาติจีน วัย 17 ปี ล้มฟุบกลางสนาม ระหว่างการแข่งขันแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย 2024 ที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่สนามรีบปฐมพยาบาล ก่อนนำส่ง รพ. และเสียชีวิตในวันที่ 30 มิถุนายน

ขณะที่ สหพันธ์แบดมินตันแห่งเอเชียและสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซีย ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงการเสียชีวิตของ จาง จี้เจี๋ย และร่วมแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการขนไก่โลก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพจอ้ายจง และ Drama-addict ตามติดประเด็นที่พี่สาวของผู้เสียชีวิต รวมถึงเสียงวิจารณ์ของชาวจีนกรณีระยะเวลาการช่วยชีวิต ตลอดจนการขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่าง AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัต

อ้ายจง เผยว่า พี่สาวของนักแบดมินตันจีนวัย 17 ปี ที่เสียชีวิตหลังหมดสติขณะแข่งขัน โพสต์โซเชียลตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระยะเวลาการช่วยชีวิต” / ชาวจีนจำนวนมากพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน จนขึ้นเทรนด์โซเชียล รวมทั้งประเด็นการขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่าง AED เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ

ขณะที่ Drama-addict อ้างอิงสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซีย พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ นักแบดมินตันชาวจีน หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ขณะกำลังทำการแข่งขันที่อินโด และเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังนำส่ง รพ.

จากคลิปที่สื่อนำเสนอจะเห็นว่า หลังเกิดเหตุ แพทย์สนามมีจังหวะที่ยังไม่ได้ลงมาในสนามแข่งขันทันที เพื่อทำการ CPR และใช้ AED กับเขา

สาเหตุเป็นเพราะต้องให้กรรมการอนุญาตก่อน แพทย์สนามจึงจะสามารถเข้าไปในสนามได้ ซึ่งจริงๆ ควรจะให้แพทย์สนามลงไปในนั้นทันที ไม่ต้องรอการอนุญาตจากกรรมการ เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป โอกาสกู้ชีพได้จะลดลงเรื่อยๆ

อีกทั้งยังไม่มี AED อยู่ในสนามแข่งขัน ทำให้มีเพียงการ CPR เท่านั้น ระหว่างนำส่ง รพ.

ว่ากันตามสถิติ เวลามีเคสแบบนี้ การ CPR จะมีโอกาสที่ช่วยชีวิตได้ประมาณ 20% แต่กรณีแบบนี้ดีที่สุดคือการใช้ AED ที่จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตเป็นห้าสิบกว่า % เลย AED จึงสำคัญมาก

ดังนั้น ในเหตุการณ์นี้จึงมีความผิดพลาดสำคัญมากๆ สองประการดังที่ว่าไป

ทางสมาคมแบดมินตันอินโดจึงถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ และยื่นข้อเรียกร้องไปทางสมาคมแบดมินตันโลกให้ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติเมื่อมีนักกีฬาเจ็บป่วยให้ทันสมัยเพื่อให้สามารถช่วยชีวิตเขาได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ดี นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และอายุรแพทย์ โรคหัวใจ ได้เปิดเผยกับ “มติชนออนไลน์” บางช่วงบางตอนว่า อาจมีการมองว่า เป็นนักกีฬาอาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจละเอียดขนาดนั้น ซึ่งคนที่เป็นโรคหัวใจแต่ไม่รู้ตัว หากถึงช่วงจังหวะที่หัวใจเต้นเร็วมาก หรือทำงานหนักมาก เครียดมาก เช่น ระหว่างการฝึกซ้อม หรือระหว่างการแข่งขันในแมตช์สำคัญ อาการก็จะแสดงออกมา ซึ่งตามหลักการแล้วทางสนามจะต้องเตรียมการแพทย์ฉุกเฉินเอาไว้ตลอดเวลา เพื่อช่วยชีวิตนักกีฬา

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ