ยอดปิดโรงงาน พุ่ง 567 แห่งใน 5 เดือนแรก สู้สินค้าจีนไม่ไหว
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุด ระบุว่า 5 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม 2567) มีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 567 แห่ง เฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน และมีแรงงานตกงาน 1.53 หมื่นคนแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ และการแปรรูปไม้
นายนาวากล่าวว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2566 ที่ยอดปิดกิจการของโรงงานที่ 1,337 แห่ง เฉลี่ย 111 แห่งต่อเดือนนั้น ถือว่าสถานการณ์ปี 2567 ยังน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ สถิติการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม ของปี 2566 ขยายตัวกว่าปี 2565 ที่มีการปิดกิจการ 678 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นถึง 60% ขณะเดียวกัน แม้การเปิดกิจการใหม่จะมีมากกว่าโรงงานที่ปิดกิจการ แต่พบว่าตัวเลขห่างกันเพียงหลัก 10 แห่งเท่านั้น จากเดิมที่ต่างกันหลักร้อยถึงสองร้อยแห่ง และแนวโน้มโรงงานที่ปิดมีมากขึ้น ทำให้ศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลง
นายนาวากล่าวว่า สำหรับสาเหตุสำคัญ คือ ราคาสินค้าที่ตกต่ำ จากภาวะสงครามทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกของสินค้าจีนราคาถูก ที่แย่งตลาดของสินค้าไทยในประเทศ ทังนี้ สินค้าจีนไม่ได้มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ตลาดส่งออกของจีนลดลง จากมาตรการกีดกัน และควบคุมการนำเข้าสินค้าของ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้จีนหันมาส่งออกให้กับกลุ่มประเทศในอาเซียนมากขึ้น
นายนาวากล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น อยากฝากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล ประเด็นแรกคือ การเพิ่มมาตรการทางภาษี หรือเครื่องมือที่จะลดนำเข้าของสินค้าราคาถูกให้เข้มข้นขึ้น สองคือ การช่วยเรื่องต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะราคาวัตถุดิบ ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น และสาม คือ การปรับตัวของโครงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ