สิ้นแล้ว ป้าเล็ก เฉลิมศรี ผู้จัดการสาวยาคูลท์คนแรก เมืองเพชรบุรี
อาลัย คุณแม่เฉลิมศรี จรรยงค์ เสียชีวิตด้วยโรคชรา สิริอายุ 82 ปี สำหรับป้าเล็ก หรือ นางเฉลิมศรี จรรยงค์ เป็นที่รู้จักในฐานะเสมียนทนายความ(สุทธยา จรรยงค์) และเป็น สาวยาคูลท์ คนแรกของจังหวัดเพชรบุรี ที่ปั่นจักรยานส่งนมเปรี้ยว ยาคูลท์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้แก่ผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ จนเป็นที่ชินตาของชาวเมืองเพชรบุรีในสมัยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา
คุณแม่เล็ก หรือ นางเฉลิมศรี จรรยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2485 ที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นธิดาคนที่ 3 ของ นายเส่ง-นางจู เยี่ยมสวัสดิ์ ในวัยเยาว์ป้าเล็กต้องช่วยบิดา-มารดาทำนา เมื่อถึงวัยเรียนได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านท้องคุ้ง ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จนจบชั้น ป.4 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนการช่างสตรีสมุทรสาคร เป็นรุ่นแรก ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดธิดาจังหวัดสมุทรสาคร ปรากฏว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยมี น.ส.อุบลวนา วิเศษศิริ เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้รางวัลชนะเลิศ คว้ามงกุฎและสายสะพายไปครอง (ต่อมา น.ส.อุบลวนาได้เป็นภรรยาคนที่ 15 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี)
ภายหลังจบการศึกษาที่โรงเรียนการช่างสตรีสมุทรสาคร ป้าเล็กได้เข้าทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทแห่งหนึ่งในเขตคลองเตย กรุงเทพฯ ขณะนั้นนายมารุต บุนนาค ทนายความที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น มอบหมายให้ นายสุทธยา จรรยงค์ ทนายความหนุ่มเมืองเพชรบุรี ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นทนายว่าความให้แก่เจ้าของบริษัทที่ป้าเล็กทำงานอยู่
นายสุทธยาได้เดินทางมาให้คำปรึกษาและซักซ้อมเรื่องคดีให้แก่ลูกความที่บริษัทแห่งนี้อยู่หลายครั้ง และเกิดถูกตาต้องใจกับป้าเล็ก จากนั้นนายสุทธยาได้พาป้าเล็กนั่งรถบัสหรือรถเมล์แดงสายกรุงเทพ-เพชรบุรี เดินทางมาเที่ยวที่บ้านเกิดที่เมืองเพชรบุรี
กระทั่งทั้งคู่ได้แต่งงานกัน มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 5 คน ประกอบด้วย นางสมุนชาติ(เปิ้ล) จรรยงค์, นางเฟื่องเพชร(เฟียต) ชีวสุวรรณ(จรรยงค์) ท้องถิ่นอำเภอสมุทรสาคร, นายปภังกร(โฟล์ค) จรรยงค์ ทนายความ, นางปิยธิดา(จี๊บ) พัฒนโภครัตนา(จรรยงค์) และนายสฤษดิ์(ฟอร์ด) จรรยงค์
หลังแต่งงานป้าเล็กได้ช่วยสามีทำงานในตำแหน่งเสมียนทนายความอยู่ที่บ้านตำบลคลองกระแชงมานานหลายปี ระหว่างนั้นได้มี นายประพันธ์ เหตระกูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้เดินทางมาที่บ้านเพื่อปรึกษาและว่าจ้างให้นายสุทธยาเป็นทนายความช่วยเหลือด้านคดีความอยู่หลายครั้ง จนทำให้ป้าเล็กมีความคุ้นเคยกับนายประพันธ์นับแต่นั้นมา
ต่อมานายประพันธ์ได้ก่อตั้ง บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในปี 2514 และได้ขยายบริษัทมาเปิดในพื้นที่เพชรบุรี ตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์บริเวณหลังร้านนเรศโอสถ ภายในเขตวัดเกาะ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และได้ให้ป้าเล็กเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการบริษัทยาคูลท์ฯเป็นคนแรกของจังหวัดเพชรบุรี โดยให้ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท
เริ่มแรกป้าเล็กต้องเดินทางไปอบรมที่บริษัทยาคูลท์ฯ สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ ชิโรต้า จุดกำเนิดของการผลิตนมเปรี้ยว “ยาคูลท์” เพื่อที่จะได้นำไปอธิบายให้ผู้บริโภคฟังถึงคุณประโยชน์ของยาคูลท์ได้อย่างมีหลักการและน่าเชื่อถือ ตามสโลแกนที่ว่า “อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ”
ป้าเล็กเข้าอบรมอยู่ประมาณ 1 เดือน จนสามารถเรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของจุลินทรีย์ได้อย่างถ่องแท้แล้วก็เดินทางกลับมาบุกเบิกเส้นทางและทำการตลาดส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้า โดยป้าเล็กได้ศึกษาจากแผนที่และปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางไปตามตรอกซอกซอยในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้า จนสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง จากนั้นป้าเล็กได้เปิดรับสมัครพนักงานสาวยาคูลท์ประจำสาขาเพชรบุรีจำนวนหลายอัตรา
ทุกเช้าป้าเล็กจะสวมชุดยูนิฟอร์มสาวยาคูลท์ สะพายกระเป๋าเก็บอุณหภูมิ และถีบจักรยานคู่ใจบรรทุกถังรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งภายในอัดแน่นด้วยนมเปรี้ยวสีเหลืองอมส้มในขวดพลาสติกขนาด ๘๐ มิลลิลิตร ที่ทางบริษัทยาคูลท์สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯส่งมาให้ นำพนักงานไปเคาะประตูส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้าจนถึงหน้าบ้านในราคาขวดละ 6 สลึง เมื่อเด็ก ๆ หรือแม่บ้านได้ยินเสียงกระดิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพนักงานสาวยาคูลท์มาแต่ไกลก็จะวิ่งออกมารอซื้อ ขายดิบขายดีจนสามารถทำยอดขายได้ทะลุเป้าและได้รับรางวัลจากบริษัทฯให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง
ต่อมาเมื่อธุรกิจการจำหน่ายยาคูลท์ในตัวเมืองเพชรบุรีเริ่มเติบโตมากขึ้น และมีพนักงานส่งยาคูลท์ครบทุกสายแล้ว ป้าเล็กจึงได้ขยายสาขาไปเปิดที่ อ.ชะอำ, อ.ท่ายาง, อ.บ้านลาด และที่ ต.เจ้าสำราญ อ.เมือง พร้อมเปิดรับสมัครพนักงานสาวยาคูลย์ประจำอำเภอ โดยป้าเล็กได้เปลี่ยนจากจักรยานคู่ใจมาเป็นจักยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าดรีม ที่ซื้อมาเป็นคันแรกในชีวิตวิ่งขึ้นร่องตามอำเภอต่าง ๆ เพื่อดูแลพนักงานและจัดสายส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้าตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ
ป้าเล็กได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการนำสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์มอบให้แก่ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ ส่งผลทำให้ยอดขายในจังหวัดเพชรบุรีทะลุเป้าหมายในทุกพื้นที่ จากนั้นมาป้าเล็กได้เปิดขยายสาขาไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ราชบุรี เป็นต้น โดยทุกวันป้าเล็กจะนำยาคูลท์จากศูนย์กระจายสินค้าที่วัดเกาะใส่ถังและบรรทุกขึ้นรถเมล์แดงไปส่งให้พนักงานสาวยาคูลท์ตามจังหวัดต่าง ๆ ปั่นจักรยานไปส่งให้แก่ลูกค้าในสายส่งที่รับผิดชอบซึ่งสามารถทำยอดขายถล่มทลายทะลุเป้าจนผู้บริหารยิ้มแก้มปริเลยทีเดียว
ป้าเล็ก นางเฉลิมศรี จรรยงค์ ใช้ชีวิตบนเส้นทางอาชีพสาวยาคูลท์มานานกว่า 30 ปี จนสามารถส่งบุตร-ธิดาทั้ง 5 คน ให้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงและมีหน้าที่การงานที่มั่นคงจวบจนมาถึงปัจจุบัน นับได้ว่า “ป้าเล็ก” เป็นหญิงแกร่ง มีเกียรติประวัติการต่อสู้ชีวิตที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่าง