กรมอุตุฯ ประกาศรายชื่อ 27 จังหวัด เตือนรับมือน้ำท่วมฉับพลัน
19 พ.ค. 67 กรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลดันดามันเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
และในช่วงวันที่ 20 - 23 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 - 26 พ.ค. 67 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศแจ้งเตือน 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ค. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง) เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สรวย) ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง) ลำปาง (อำเภอเมืองลำปาง อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอเถิน อำเภอเกาะคา อำเภอแม่พริก) พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอภูกามยาว) แพร่ (อำเภอวังชิ้น อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง อำเภอเด่นชัย) น่าน (อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว) อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด อำเภอตรอน) ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง) สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสัชนาลัย) พิษณุโลก (อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์) และเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหนองไผ่)
ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอไทรโยค) ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา) ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา) ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา อำเภอเขาพนม) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอหาดสำราญ อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ) และสตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง)