เตือนโรคร้าย หน้าฝนนี้ คนไทยเสียชีวิตแล้ว 9 ราย เผยวิธีป้องกัน

เตือนโรคร้าย หน้าฝนนี้ คนไทยเสียชีวิตแล้ว 9 ราย เผยวิธีป้องกัน

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เกิดพายุฤดูร้อน ทำให้มีน้ำท่วมขัง น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือแอ่งน้ำขังขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิส หรือ "โรคฉี่หนู"เป็นพิเศษ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับน้ำ หรือดินโคลนที่ปนเปื้อนเชื้อ

นายแพทย์ทวีชัย กล่าวต่อไปว่า โดยเชื้อสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จากการลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด

ซึ่งอาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้" นายแพทย์ทวีชัย ระบุ

สถานการณ์"โรคฉี่หนู"ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 979 ราย มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

สถานการณ์โรคฉี่หนูในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วย จำนวน 45 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย

จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 11 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 1 ราย

กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ

สำหรับวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือ"โรคฉี่หนู"มีดังนี้

หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูต ถุงมือยาง ขณะลุยน้ำท่วมขัง ย่ำดินชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด

หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที

หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์

อย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้หากเข้ารับการรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ