พบพื้นที่นาข้าวกว่า 1 พันไร่ ถูกทิ้งร้าง แล้งหนักไม่มีน้ำ

พบพื้นที่นาข้าวกว่า 1 พันไร่ ถูกทิ้งร้าง แล้งหนักไม่มีน้ำ

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม มีรายงานว่าพื้นที่ ต.สะพานหิน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท และพื้นที่ใกล้เคียงปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน ทำให้มีพื้นที่นาข้าวถูกทิ้งร้างจำนวนกว่า 1,000 ไร่ เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอที่จะให้ชาวนาปลูกข้าว หรือพืชใดๆ ได้เลย เพราะพื้นที่ในแถบนี้อยู่นอกเขตชลประทาน ที่การทำเกษตรต้องพึ่งน้ำฝนเพียงเดียว ทำให้ไม่ได้ทำการเพาะปลูกต่อเนื่องมาถึง 2 ฤดูต่อเนื่อง แม้บางรายจะหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่าง ถั่วเขียว หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลผลิตที่คุ้มค่าการลงทุน เพราะสภาพความแห้งแล้งที่รุนแรงยาวนาน

ขณะที่สถานการณ์น้ำที่ เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคคกลาง ล่าสุดได้คงการระบายน้ำไว้ที่อัตรา 70 ลบ.ม./วิ (ลูกบาศเมตรต่อวินาที) เพื่อผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ รักษาระบบนิเวศลำน้ำ แต่ยังคงเน้นสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

ส่วนปริมาณน้ำเหนือเริ่มมีปริมาณที่คงตัวต่อเนื่อง โดยที่จุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 283 ลบ.ม./วิ ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนเริ่มลดระดับลง ล่าสุดวัดได้ 14.33 ม.รทก.(เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานกักเก็บ 16.50 ม.รทก.เข้าสู่วันที่ 166 (ล่าสุดที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์คือ 28 พ.ย.66) หรือเข้าสู่เดือนที่ 6 และจากที่เขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดระดับลง ล่าสุดวัดได้ 5.41 ม.รทก. ทำให้เห้นสันดอนทรายโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เน้นการผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภค และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวม 191ลบ.ม./วิ โดยฝั่งตะวันออกผันน้ำผ่านคลองชัยนาทป่าสัก คลองช่องแค และคลองมหาราช รวม 82ลบ.ม./วิ ส่วนฝั่งตะวันตกผันน้ำผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย รวม 109ลบ.ม./วิ

ซึ่งจากสถานการณ์น้ำล่าสุด ทางราชการจึงย้ำขอความร่วมมือเกษตรกร ขอให้งดการทำนาต่อเนื่อง ถ้าจะทำการเพาะปลูกขอให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ประชาชนทั่วไปขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะประเทศไทยยังจะต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้งไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ