คนไทย เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นานและเป็นหนี้จนชรา
ปัญหาหลายเรื่องดูจะแก้ไขได้ง่ายหากมีเงินมากพอ แต่เมื่อคนไทยมีเงินไม่พอใช้ หนี้ เลยเกิดขึ้น และขยายตัวในระดับประเทศเพราะหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงแตะอันดับ 3 ของโลก รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ต่อเนื่องมา 3 ปี ว่าแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เรื่องหนี้สินของคนไทยอย่างไรบ้าง หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง Top 3 ของโลกฉุดเศรษฐกิจ
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงินสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่า หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวขึ้นอาจมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้จากการอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น คือเมื่อใช้จ่ายไปแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ทำให้คนไทย “เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่” ขณะเดียวกันยังเห็นกลุ่มผู้กู้อายุน้อยมีหนี้เสียสูงขึ้นโดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคล Ploan
ยอมรับหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงขึ้น ไม่ได้แปลว่าคนไทยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกรารเข้าถึงสินเชื่อที่จะเพิ่มรายได้ เช่น สินเชื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อบ้านที่ปัจจุบันมีแค่ 6 เปอร์เซ็น จากฐานสินเชื่อทั้งหมด ต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านถึง 30 เปอร์เซ็นจากสินเชื่อของสหรัฐทั้งหมด
ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย จากข้อมูลเครดิตบูโร 9 ปีย้อนหลัง ปี 2552 ถึง 2561 พบว่าพฤติกรรมผู้กู้ของไทยจะขอสินเชื่อหลายประเภท มีหลายบัญชีเงินกู้ และกู้เงินจากหลายสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารและ Non Bank โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกัน Unsecured Loan เช่น Ploan สินเชื่อบัตรเครดิต ฯลฯ มีมูลค่าหนี้เสียและคนเป็นหนี้เสียมากขึ้นเรื่อยๆ
คนครึ่งประเทศมีหนี้ หนี้ก้อนใหม่แต่ผู้กู้คนเดิม สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. บอกว่า จากข้อมูล ธปท. สัดส่วนครัวเรือนไทยมีหนี้อยู่ที่ 51 เปอร์เซ็นใกล้เคียงกับข้อมูลสํานักงานสถิติแห่งชาติ SES ครัวเรือนมีหนี้ รวมหนี้นอกระบบ อยู่ระดับ 53 เปอร์เซ็น จุดที่ต้องจับตามองคือในกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ 19 เปอร์เซ็น เป็นครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหา เช่น ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทัน เงินออมไม่พอ ฯลฯ เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางหากเศรษฐกิจไม่ดี หรือมีปัจจัยกระทบจะทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีปัญหา
ทั้งนี้กลุ่มครอบครัวที่มีหนี้และมีปัญหาส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายสูงในหลายหมวด เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าสันทนาการ ค่าซ่อมรถ ค่าดูแลบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น หมวดค่าดูแลบ้าน ค่าซ่อมรถ อาจหมายถึงคนที่ใช้รถราคาสูง หรือ บ้านที่ใหญ่เกินรายได้ นอกจากนี้ปัญหาคนที่มีหนี้ ส่วนใหญ่มาจากขาดวินัยทางการเงินและไม่สามารถแยกแยะค่าใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น และไม่จำเป็น จึงมีปัญหาในการใช้จ่ายและการเก็บออมตามมา
โสมรัศมิ์ บอกว่า ปัญหาของไทยคือ ระดับและการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนโตเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยยังกู้หนี้หลายบัญชี จากหลายสถาบันการเงิน เช่น คนไทย 1 คน มีบัญชีหนี้เฉลี่ย 1 จุด 7 บัญชี แต่คนที่มีสูงสุดมีหนี้ถึง 20 บัญชี จากฐานข้อมูลเครดิตบูโรคนไทย 20 ล้านคนที่มีหนี้ในระบบ ส่วนใหญ่เป็นผู้กู้รายเดิมที่ขอสินเชื่อเพิ่ม จากสถาบันการเงินใหม่ ส่วนผู้กู้รายใหม่ ที่ไม่เคยมีสินเชื่อ มีแค่ 1 ใน 5 ของสินเชื่อทั้งระบบแสดงว่ามีประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจำนวนมาก แม้ปัจจุบันเห็นแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้รายใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากก่อนหน้านี้ผู้กู้รายเดิมจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง และหัวเมืองใหญ่
จากข้อมูลเครดิตบูโรตลอด 9 ปีพบว่า คนไทยมีสินเชื่อหลายบัญชี จากหลายสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กลุ่มผู้กู้อายุน้อยส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิต Ploan สินเชื่อรถยนต์ และเมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มมีสินเชื่อบ้าน เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสินเชื่อธุรกิจ เช่น ที่ให้กับเกษตรกร ฯลฯ ทำให้ 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาธปท ออกเกณฑ์ใหม่ควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ทั้งบัตรเครดิต Ploan สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ขณะนี้ธปท ตั้งทีมงานศึกษาการทำ DSR Debt Service Ratio หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ ที่อาจเป็นเกณฑ์ใหม่ที่ใช้กำหนดว่าคนไทยหนึ่งคนจะมีสินเชื่อได้เท่าไร
สรุป หนี้สินไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่ธปท ต้องดูแลให้คนไทยเข้าถึงสินเชื่อ และไม่ให้คนไทยมีหนี้เสียเยอะเกินไป เพราะถ้าคนไม่จ่ายหนี้ ธนาคารจะนำเงินที่ไหนมาคืนผู้ฝากเงิน แต่เกณฑ์ใหม่ๆ ของธปท. ที่เคร่งครัดขึ้น เพื่อกันคนขอสินเชื่อเกินตัว ทว่าอีกปัญหาคือเมื่อประชาชนขอสินเชื่อไม่ได้ อาจเป็นการผลักให้คนไปใช้หนี้นอกระบบ ธปท.ต้องหาทางใหม่เพื่อที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงและเข้าใจเรื่องการเงินได้มากขึ้น
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย