วิธีคำนวณหนี้ กยศ.แบบใหม่ ทำหนี้ลดเร็วขึ้น

วิธีคำนวณหนี้ กยศ.แบบใหม่ ทำหนี้ลดเร็วขึ้น

จากกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุการแก้หนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยใช้การคำนวณตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และอาจทำให้หนี้ลดลงประมาณ 50 %

วิธีการคำนวณยอดหนี้รูปแบบใหม่ของ กยศ. ที่จะทำให้หนี้ลดเร็วขึ้น สรุปคือ

1.หักเงินต้นก่อน

2.หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่

3.หักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ

จากเดิมที่ใช้วิธีการคำนวณแบบเก่าคือ

1.หักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ

2.หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่

3.หักยอดเงินต้น

โดยวิธีการคำนวณครอบคลุมลูกหนี้ 3.5 ล้านคนที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ กยศ. ซึ่งการคำนวณใหม่จะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ชำระหนี้ให้ กยศ.

กฎหมายนี้กำหนดด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1 % ต่อปี เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5 % ต่อปี จากเดิมที่กำหนดให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5 % ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

ส่วนคนที่ผ่อนมาแล้ว

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่อนมาแล้ว เมื่อมาคำนวณใหม่จะพบยอดหนี้ลดลง หรือบางกลุ่มที่ผ่อนไม่หมดมาคำนวณใหม่ ยอดหนี้อาจลดลงจนปิดยอดได้ ขณะที่คนที่ปิดยอดหนี้ไปแล้ว จะถูกคำนวณใหม่ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่จะเริ่มดำเนินการ

กลุ่มลูกหนี้ที่เร่งด่วน คือ กลุ่มแรก เป็นลูกหนี้ที่กรมบังคับคดีดูแลอยู่ เช่น ลูกหนี้ที่ฟ้องอายัด กลุ่มนี้กยศ.จะคำนวณก่อน ซึ่งมีประมาณ 46,000 ราย และจะดำเนินการให้เสร็จภายในธ.ค.นี้ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้

ส่วนกลุ่มที่สอง คือ หมดอายุความในเดือน มี.ค.2567 มีประมาณ 40,000 ราย ส่วนนี้ก็จะคำนวณใหม่และหากทำได้เร็วจะดึงลูกหนี้ กยศ.กลุ่มอื่นๆ มาคำนวณด้วยมือให้มากที่สุด ก่อนที่ระบบหลักจะแล้วเสร็จ

โดยปัจจุบัน กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้ว 7 แสนล้านบาท มีผู้กู้ 7 ล้านคน แยกเป็น

1.ผู้กู้ปิดบัญชีไปแล้ว 2 ล้านคน

2.อยู่ระหว่างการศึกษา 1.3 ล้านคน

3.อีก 3.5 ล้านคน อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ