จับตาพายุเข้าอีสานพรุ่งนี้ พื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือ
เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 2 ต.ค.66 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี เราต้องเน้นการป้องกันมากกว่าบรรเทา ไม่เช่นนั้นสถานการณ์อุทกภัยก็เกิดซ้ำๆ กันในพื้นที่เดิมๆ ฉะนั้น ปภ.ต้องทำงานเชิกรุก
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า วันที่ 3-7 ต.ค.พายุจะเข้าประเทศก็จะมีหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งก็มีประมาณน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์เกือบทุกอ่าง ในส่วนการบริหารจัดการน้ำนั้นจะต้องดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ค. หลังจากนี้ต้องหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่ามีปริมาณในเขื่อนเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ โดยต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าพายุเข้าจังหวัดปลายน้ำที่ไหลไปยังแม่น้ำโขง เช่น จ.อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด ก็คงต้องท่วม ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกรมชลประทานที่ 6 แล้ว ปีนี้โชคดีที่ลุ่มน้ำมูลมีปริมาณน้ำยังไม่เต็มอ่าง ยังมีปริมาณเก็บกักน้ำไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ลุ่มน้ำชีตลอดแนวอ่างเก็บน้ำเต็มหมดทุกอ่าง ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง มีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ในวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ เพื่อไปบัญชาการและให้กำลังใจกับข้าราชการที่ปฏิบัติงานและประชาชนด้วย นายเกรียง กล่าว
เมื่อถามว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาประชาชนคาดหวังในการบริหการจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทอง นายเกรียง กล่าวว่า รัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 2 เดือน แต่การบริหารจัดการน้ำต้องเริ่มทำตั้งแต่เดือนก.ค. ไม่ใช่มาเริ่มเดือนส.ค.หรือเดือนก.ย. มันไม่ทัน ยืนยันว่าเราทำอย่างเต็มที่ ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำก็ยังสามารถทำได้ในบางส่วนก็ยังทำได้ทัน ยกเว้นแต่จะมีพายุเข้า
เมื่อถามว่าในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน นายเกรียง กล่าวว่า เมื่อดูจากปริมาณน้ำเมื่อเทียบกับปีแล้ว ยังไม่มีความเสี่ยง ถ้าไม่มีพายุเข้าก็หายห่วง โดยตนได้หารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าโอกาสพายุเข้ามีน้อยแต่ก็ยังมีโอกาสอยู่ แต่ขณะนี้คนกรุงเทพฯสบายใจได้