คนไทยอ่วม หนี้ครัวเรือนพุ่งสุดในรอบ 15 ปี
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,300 ราย พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ก่อนหน้านั้นเจอสงครามการค้าจีน-สหรัฐ (เทรดวอร์) ตั้งแต่ 2562 ทำให้เมื่อปี 2560 เศรษฐกิจไทยโต 4% แต่เมื่อเจอเทรดวอร์ ภาคการส่งออกไทยเริ่มเผชิญการติดลบ ลุกลามไปในทุกระดับ ตั้งแต่เกษตรกร แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบมีตั้งแต่ปี 2562 พอโควิดระบาดก็เกิดการซัตดาวน์ทั้งประเทศ ก่อนผ่อนคลายการท่องเที่ยวปี 2565 จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว แต่เชื่อว่าผ่านสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงสุด (พีก) ไปแล้วในช่วงปี 2564
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากที่ควรได้รับอานิสงส์ทั้งแผง เพราะปี 2565 ส่งออกดี แต่ปีนี้ส่งออกแย่ตามเศรษฐกิจโลก ส่วนท่องเที่ยวดีในปีนี้ และเกษตรกรเริ่มมีราคาพืชผลที่ดีขึ้น จึงเป็นการเติบโตแบบสลับกันไปมา ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้บรรเทาลงมากนัก รายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายจ่ายที่เพิ่มตามภาวะต้นทุน ซึ่งสูงขึ้นจากฐานเงินเฟ้อที่เคยสูงกว่า 5-6% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนเจอค่าไฟแพงในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมาด้วย รายได้ของครอบครัวหรือครัวเรือนจึงน้อยกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ไม่พอกิน คนออมน้อยลงและไม่ได้ออม เป็นสถานการณ์เฉพาะกิจที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นหนี้ในระบบประมาณ 80% และอีก 20% เป็นหนี้นอกระบบ โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมาเป็นรายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ โดยมองว่าแม้หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจะขึ้นไปแตะ 90% ของจีดีพี แต่แนวโน้มจีดีพีที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และครัวเรือนไม่ตั้งใจจะก่อหนี้มากขึ้น อีกทั้งหนี้ที่ก่อก็เป็นหนี้ในระบบ จึงมองว่าหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาของบุคคล รวมถึงเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงิน อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขแบบเอาจริงเอาจังอยู่ด้วย
หนี้ครัวเรือนในปี 2566 ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำแบบสำรวจมาในรอบ 15 ปี โดยมีผลมาจากเทรดวอร์ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด ทำให้คนก่อหนี้มากขึ้น แต่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าควร โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และวงเงินในการก่อหนี้ น่าจะพีกสุดในช่วงปี 2567 เพราะต่อให้มีการเลือกตั้ง แต่ความแน่นอนทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัด ทำให้ประชาชนคาดว่า ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำไปจนถึงต้นปี 2567 นายธนวรรธน์ กล่าว