สภาอุตสาหกรรม ปรับเป้ายอดการผลิตรถยนต์ ลงจากเดิม

สภาอุตสาหกรรม ปรับเป้ายอดการผลิตรถยนต์ ลงจากเดิม

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตฯยานยนต์ส.อ.ท.ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2566 ลดลง 50,000 คันจากเดิมวางเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 1,950,000 คันแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,050,000 คันผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน ปรับเป็นการผลิตรวม 1,900,000 คันลดลงจากเป้าเดิม2.56% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกคงเดิม1,050,000 คันแต่ลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงเหลือเป็น 850,000 คันหรือลดลง 5.56%

สำหรับสาเหตุหลักที่ปรับเป้าเนื่องจากยอดจำหน่ายในประเทศลดลงจากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือสันดาปภายในมากกว่า 5% ซึ่งเป็นรถยนต์นำเข้าที่ยังไม่ได้ผลิตในประเทศและครึ่งปีหลังยังคงต้องติดตามใกล้ชิดหากมีการนำรถEVราคาต่ำมาทำตลาดเพิ่มอีกก็จะกระทบมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) การส่งออกของไทยที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้มีการลดกะการผลิตและลดการทำงานทำให้อำนาจซื้อลดลง ท่วมกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงเป็นขาขึ้นและค่าครองชีพที่สูงประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่าย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณายอดการผลิตรถยนต์เดือนมิ.ย.66 ล่าสุดมีทั้งสิ้น 145,557 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.78% รวม 6 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.66) ผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทได้ 921,512 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.91% โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศมิ.ย.66 อยู่ที่ 64,440 คันลดลง 5.16% ซึ่งเป็นการลดลงของรถกระบะ(Pure Pickup) และรถบรรทุกเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อและมีการนำรถบรรทุกจากเพื่อนบ้านมาทำตลาดเพิ่มส่งผลให้ 6 เดือน(ม.ค.-มิ.ย.66)มียอดจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 406,131 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.95%

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป(CBU)เดือนมิ.ย.66 อยู่ที่ 88,826 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.22% ส่งผลให้ 6 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.มิ.ย.66)อยู่ที่ 528,816 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.61% รวมมูลค่าการส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ของกลุ่มรถยนต์อยู่ที่ 329,181 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.45%

นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของไทยในปัจจุบันที่ล่าช้าว่า ยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมีนัยสำคัญโดยยังเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะแล้วเสร็จภายในสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามคือ มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการ EV3.5” ตามมติคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)ที่วางไว้ในการสนับสนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงเงินสนับสนุน ฯลฯ ที่หากไม่ต่อเนื่องยอมรับว่าจะกระทบต่อการนำเข้า EVมาจำหน่ายในประเทศสะดุดรวมถึงความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนผลิตในประเทศ

ผมยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงสนับสนุนตามแนวทางที่บอร์ดอีวีวางไว้ ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยนิยมใช้รถEV เพิ่มมากขึ้นโดยพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเดือนมิ.ย.66 มีทั้งสิ้น 8,260 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 54.74% “นายสุรพงษ์กล่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ