จับตา จ่อปรับลดรายจ่าย เบี้ยผู้สูงอายุ ลดภาระงบการคลัง

จับตา จ่อปรับลดรายจ่าย เบี้ยผู้สูงอายุ ลดภาระงบการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยหนึ่งในแผนการตัดรายจ่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว คือการตัดงบผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความเดือดร้อนมากที่สุด และจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำของรัฐ

ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราปีละ 50,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้จ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าหากจะตัดงบประมาณสำหรับการจ่ายผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป จะช่วยลดงบประมาณได้ถึงครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังเป็นประเด็นที่จะต้องไปศึกษากันต่อว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้เงินส่วนนี้เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนควรได้รับ หรือเป็นสิทธิของประชาชนเฉพาะที่เดือดร้อน ไม่มีความสามารถในการหารายได้เท่านั้น เพื่อนำมากำหนดเป็นกติกาการจ่ายเงิน เช่น การกำหนดฐานรายได้ หรือ การถือครองทรัพย์สินของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชรากันใหม่ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ทาง ก.คลัง เตรียมเอาไว้เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณมีความสำคัญอย่างมาก หากต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึง และปฎิเสธไม่ได้ว่าการเผชิญหน้าสังคมผู้สูงอายุของไทย เป็นโจทย์ท้าทายภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล อันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องวางแผนรองรับทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม การส่งเสริมการแผนการเงิน และสุขภาพหลังเกษียณ รวมทั้งการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ธนาคารโลกเปิดตัวรายงาน เรื่อง การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย: การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยระบุว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ความต้องการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นผ่านเงินบำนาญและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มขึ้นและแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 ภายใต้การประมาณการในกรณีฐานต้นทุนทางการคลังของเบี้ยผู้สูงอายุ และเงินบำนาญข้าราชการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.8 ของ GDP ในปี พ.ศ. 2562 เป็น ร้อยละ 3.5 ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีสมมติฐานว่าขนาดของผลประโยชน์ต่อหัวเพิ่มขึ้นตาม GDP ต่อหัว ต้นทุนรวมทางการคลังของค่ารักษาพยาบาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.8 ของ GDP เป็นร้อยละ 3.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและขั้นตอนทางการแพทย์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม

ข้อสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่าภาครัฐมีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ขึ้นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่ายต่างๆ ในขณะที่ยังคงต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลัง หากไม่มีการปฏิรูปด้านรายได้จะทำให้การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้การขาดดุลการคลังเกินร้อยละ 8 ของ GDP และในระยะยาว หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับที่ไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ทางการคลังในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากการขยายตัวของ GDP แท้จริงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี แทนที่จะเป็นร้อยละ 2.5 ตามที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐานเนื่องจากการลงทุนภาครัฐหรือภาคเอกชนลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้

ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มากขึ้นต่อกำลังแรงงาน หรือการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตรวมที่ไม่เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ของ GDP ภายในปี 2593 หลังจากพิจารณาผลกระทบของการปฏิรูปด้านรายได้และการใช้จ่ายทั้งหมด

ดร. ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและความยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยรายงานระบุถึงการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ราวร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ประกอบด้วย 1. การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่างๆ 2. การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย และ 3. การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยหากมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมความให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยผลกระทบของการปฏิรูปด้านภาษีต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถได้รับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิคนรวยรับเบี้ยยังชีพคนชรา ยังคงต้องศึกษาข้อกฎหมายโดยพิจารณารัฐธรรมนูญว่ากำหนดให้เงินส่วนนี้เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนควรได้รับ หรือเป็นสิทธิของประชาชนเฉพาะที่เดือดร้อน ไม่มีความสามารถในการหารายได้เพียงเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขการรับเบี้ยผู้สูงอายุ เช่น การกำหนดฐานรายได้ หรือ การถือครองทรัพย์สินของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา เป็นต้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ