เปิดภาพถ่ายดาวเทียม ร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านประเทศไทย กลุ่มเมฆฝนปกคลุม
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
ล่าสุด กรมอุตุฯ วิเคราะห์แผนที่อากาศผิวพื้น ลมที่ระดับ 925hPa เวลา 01.00น. (20/7/66) และภาพถ่ายดาวเทียมวันนี้ ร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังพัดต่อเนื่อง เมฆฝนยังปกคลุมภาคอีสาน ในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มมีพายุดีเปรสชันก่อตัว และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนได้
และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ช่วงวันที่ 24 -25 ก.ค.66 และจะเคลื่อนฝั่งบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ต่อไป พายุนี้จะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบโดยตรง เพียงแต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม มีกำลังแรงขึ้น ฝนส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้านรับมรสุม
เรียบเรียง มุมข่าว