คนอายุ 65 ปี ขึ้นไป คือคนที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด
กลายเป็นเรื่องราวที่เป็นประเด็นขึ้นมาในโลกโซเชียล เมื่อได้มี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New York และ Princeton ทำงานวิจัยเผยให้รู้ว่า คนอเมริกันที่แชร์ข่าวปลอม ส่วนใหญ่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป งานวิจัยตีพิมพ์ใน Science Advance เป็นการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Facebook ในช่วงหลายเดือนก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 โดยช่วงต้นปีนักวิจัยเริ่มทำงานกับบริษัทวิจัย YouGov เพื่อรวบรวมผู้คนให้ได้จำนวน 3500 คน มีทั้งคนที่ใช้และไม่ใช้ Facebook
จนกระทั่งในวันที่ 16 พฤศจิกายนหลังการเลือกตั้ง กลุ่มนักวิจัยขอให้ผู้ใช้ Facebook ติดตั้งแอพที่เป็นการขออนุญาตให้พวกเขาแชร์ข้อมูลการแชร์ข่าวของตัวเอง หน้าโปรไฟล์ที่มองเห็นได้สาธารณะ เพจที่พวกเขากดติดตามไว้ เพื่อจะดูเนื้อหาที่พวกเขาแชร์นั่นเองซึ่งมักสะท้อนมุมมองการเมือง ศาสนาของตนเอง โดยมีผู้ใช้งาน Facebook 49 เปอร์เซ็น ยินยอมแชร์ข้อมูลให้นักวิจัยดู
จากนั้นนักวิจัยได้ตรวจสอบลิงก์ที่ผู้ให้ทำวิจัยโพสต์ลงในไทม์ไลน์ของตน กับรายการโดเมนเว็บที่มีข่าวปลอมในอดีตซึ่งรวบรวมโดย Craig Silverman นักข่าวของ BuzzFeed และสอบลิงก์กับรายการข่าวและโดเมนปลอมอีกสี่รายการเพื่อดูว่าผลลัพธ์จะสอดคล้องกันหรือไม่
ราว 8 จุด 5 เปอร์เซ็น ของผู้ให้การสำรวจแชร์ข่าวปลอม ผู้ใช้ที่ระบุตนว่าเป็นอนุรักษ์นิยมก็มีแนวโน้มจะแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มเสรีนิยม แต่เมื่อแยกเป็นอายุพบผลลัพธ์น่าสนใจคือ คนอายุมากกว่า 65 ปีราว 11 เปอร์เซ็น แชร์ข่าวปลอม เทียบกับคนอายุ 18 ถึง 29 มีเพียง 3 เปอร์เซ็น เท่านั้น เรียกได้ว่าคนมีอายุแชร์ข่าวปลอมมากกว่าคนอายุน้อยหลายเท่าตัว
ในงานวิจัยไม่ได้สรุปว่าทำไมผู้ใช้ที่มีอายุมากมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอมมาก แต่นักวิจัยได้ชี้ไปที่ความเป็นไปได้คือผู้สูงอายุที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตช้ากว่ายังขาดทักษะ digital literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้พวกเขาติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย
ที่มา Science Advance