กกพ.แถลงวันนี้ 3 แนวทางดับฝันค่าไฟ 4.25บ./หน่วย

กกพ.แถลงวันนี้ 3 แนวทางดับฝันค่าไฟ 4.25บ./หน่วย

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาลดค่าไฟงวดปลายปีช่วยเหลือประชาชนให้เหลือระดับ 4.25 บาทต่อหน่วยหรือน้อยกว่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย คาดส่งได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนกรกฎาคม และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนธันวาคมนี้ รวมทั้งปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีลดลง ตลอดจนราคาแอลเอ็นจีสปอตลดลง มากกว่า 30% ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ของ กฟผ.ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริงราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่าที่เรียกเก็บ แม้ว่าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายอิศเรศกล่าวว่า กกร.เสนอภาครัฐพิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ.จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568 ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัดดีมานด์เทียมจากชิปเปอร์หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดใหม่ให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยการจัดหาในราคาเฉลี่ยแอลเอ็นจีช่วง 14-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกร.มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคาแอลเอ็นจีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 กรกฎาคม จะเปิดเวทีชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที ที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนและผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7-21 กรกฎาคมนี้ แบ่งเป็น 3 ทางเลือกเช่นเดิม เบื้องต้นจะมีทางเลือก ทั้งลดค่าไฟสูงสุดมากกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อจัดเก็บค่าไฟงวดใหม่ต่ำกว่า 4.50 บาทต่อหน่วย จนถึงตรึงราคาอยู่ในระดับเดิมคือ 4.70 บาทต่อหน่วย ตัวแปรสำคัญคือการผ่อนจ่ายหนี้คงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) 1.3 แสนล้านบาท ว่าจะยืดการจ่ายหนี้อีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวการพิจารณาอัตราค่าไฟล่าสุดยังไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากเอกชนมองว่าค่าไฟงวดใหม่ควรลดได้มากกว่า 45 สตางค์ต่อหน่วย หรือไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมา กกพ.ระบุว่าอาจลดได้ประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ