อีกไม่เกิน 5 ปี มหาลัยบางแห่ง ต้องปิดตัวลง
มหาลัยถือเป็นสถานที่ที่สำคัญอีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ก้าวออกมาจากรั้วโรงเรียน มหาลัยจึงเปรียบเสมือนโลกจำลองสถานการณ์ของการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งจะมีมหาลัยหลายแห่งที่มีเนื้อที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับมวลมหานักเรียนจำนวนมากที่จะเข้าสู่รั้วมหาลัย แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาและค่าใช้จ่ายในรั้วมหาลัยนั้นแพงเกินกว่ารายรับ จึงทำให้มหาวิทยาลัย ปิดตัวมาจากหลายสาเหตุ เช่น จำนวนมหาวิทยาลัยมีมาก แต่ประชากรลดน้อยลง บางหลักสูตรก็ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีคนมาสมัครเรียน อีกทั้งสถาบันที่มีชื่อเสียงบางแห่งก็เปิดหลักสูตรมากขึ้น และรับนิสิตนักศึกษาจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สถาบันอื่นๆได้รับผลกระทบ
ขณะที่ผู้เรียนยังมีค่านิยมเลือกเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงมากกว่าจะมองความรู้และทักษะที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยต้องเปิดสอนหลักสูตรที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคม คำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน และทำหลักสูตรเพื่อรองรับสังคมสูงอายุที่กำลังจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้องบริหารทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่า ไม่เกิน 5 ปี มหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะต้องปิดตัวแน่นอน หรือไม่ก็เหลือแต่ซากตึก ซึ่งบางแห่งก็กำลังเผชิญวิกฤตนี้แต่ยังไม่ยอมปิดตัวลงเพราะกลัวเสียหน้า แต่เมื่อเปิดได้ก็ปิดได้ สังคมไม่ต้องการก็ต้องปิดตัวลง
มหาวิทยาลัยบางแห่งขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง ขณะนี้พบว่ามีอาการน่าเป็นห่วงเป็นจำนวนมาก ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎขนาดเล็ก ก็ทำท่าจะไปไม่รอด บางแห่งมีคุณภาพย่ำแย่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สภามหาลัยควรต้องทบทวนและรับผิดชอบ สอดคล้องกับ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่เขย่าวงการอุดมศึกษาโลก รวมถึงอุดมศึกษาของไทย เมื่อ ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University เล่มล่าสุดของเขาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4500 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 1000 แห่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ และจำนวนนักเรียนไฮสคูลที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง
ไม่เพียงแต่ศาสตราจารย์คริสเตนเซนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาและสถาบันจัดอันดับมูดีส์ก็ประเมินเช่นกันว่า จะมีมหาลัยและมหาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การปิดตัวของมหาลัยในสหรัฐอเมริกา เป็นตัวเลขที่น่ากลัว ทั้งที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกามีคุณภาพกว่าประเทศไทยมาก เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากการศึกษาออนไลน์ได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่า เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน อีกทั้งค่าเรียนยังถูก สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะที่การเรียนการสอนในระบบเดิมต้องลงทุนมหาศาล สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากการรุกของหลักสูตรออนไลน์แล้ว จำนวนเด็กที่เข้าสู่ มหาวิทยาลัย ที่อเมริกากำลังเผชิญ เป็นวิกฤติที่การศึกษาของไทยกำลังเผชิญเช่นเดียวกัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 1 จุด 1 ล้านคน ต่อปี ตอนนี้ลดลงเหลือ 7 แสนคนต่อปี
เด็กมัธยมฯ ที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงแน่นอน นอกจากนี้ ในอเมริกายังพบว่า เด็กปี 1 ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ 18 ถึง 22 ปี ตามปกติ เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบไฮสคูลจะออกไปทำงาน ออกเดินทางไปค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนรู้จาก Google เมื่อรู้ว่าอยากเรียนหรืออยากทำอาชีพอะไร ถึงจะตัดสินใจเข้ามาเรียนในมหาลัย โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีเต็ม เพราะครึ่งหนึ่งเขาได้จากการทำงานมาแล้ว ดังนั้น อาจารย์ยุคใหม่จะต้องสอนโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก มีการบูรณาการการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน หรือฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริง หรือให้ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอนร่วมกัน รวมไปถึงการประเมินผล เพื่อให้เด็กที่จบไปมีทักษะในการเป็น entrepreneur ในสถานประกอบการ และสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้
ที่มา smartsme
เรียบเรียง มุมข่าว