ผู้เชี่ยวชาญ เผยแผ่นดินไหวในทะเล การคาดการณ์และเตือนภัยสึนามิ

ผู้เชี่ยวชาญ เผยแผ่นดินไหวในทะเล การคาดการณ์และเตือนภัยสึนามิ

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีรายงานว่า รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตระหนักแต่ไม่ตระหนก แผ่นดินไหวคาดการณ์และเตือนภัยไม่ได้ แต่เราเตือนคลื่นสึนามิได้

การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.4 M ลึก 5.3 km (USGS) ในทะเลอันดามัน เช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 08.40 น. เวลาประเทศไทย รับรู้ได้ในอาคารสูงหลายแห่งใน กทม. และปริมณฑล ภาพที่ปรากฏการอพยพลงมายังชั้นล่างนอกอาคาร ด้วยความตระหนก ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์

ดังนั้น สำหรับอาคารที่ออกแบบรับแรงตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว (ปรับปรุงล่าสุด 2564) ประกอบด้วยอาคารสาธารณะ อาคารที่มีความสูง 5 ชั้นขึ้นไปในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล (3 ชั้นขึ้นไป สำหรับจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันตก) ประชาชน จึงควรหลบใต้โต๊ะ (ระวังฝ้าเพดาน ระบบไฟฟ้า พัดลมเพดาน ระบบแอร์ ฯลฯ) จนกว่าการสั่นไหวจะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาคารที่ไม่ควบคุม (บ้านพัก ตึกแถว ทาวน์เฮาส์) หรืออาคารที่สร้างก่อนกฎกระทรวงในปี 2540 หรือก่อนกฎกระทรวงปรับปรุงในปี 2560 ก็ต้องตัวใครตัวมันครับ เพราะไม่มีใครประเมินและตรวจสอบให้ ผมจึงแนะนำให้วิ่งออกมาก่อนสำหรับอาคารเหล่านี้

การเกิดแผ่นดินไหวขนาดดังกล่าว บริเวณรอยเลื่อนสะแกง ไม่ได้ผิดความคาดหมายทางวิชาการ เนื่องจากมีงานวิจัยบ่งชี้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว >70% ในรอบ 50 ปี ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของ Amplitude คลื่นแผ่นดินไหวบนชั้นดินอ่อนพื้นที่ กทม. และปริมณฑลประมาณ 3 เท่า ประกอบกับความถี่ของแผ่นดินไหว ที่ใกล้เคียงกับความถี่โดยธรรมชาติของอาคารสูงบนชั้นดินอ่อน จึงทำให้รับรู้ได้เพียงในเวลาประมาณ 80 วินาที (หลังจากการเกิดแผ่นดินไหว) บนสมมติฐานความเร็วคลื่น แผ่นดินไหว 6.1 km/s

อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง (เช่น เมื่อปี 2565 เกิดแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์ ขนาด 5, 4.8 และ 4.9 M เมื่อวันที่ 5, 9 กรกฎาคม และ 2 กันยายน) แต่ชาว กทม.และปริมณฑลไม่สามารถรับรู้ได้ ยกเว้นชาวภูเก็ต และจังหวัดอันดามันบางแห่ง

ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเล การคาดการณ์และเตือนภัยสึนามิจึงมีความสำคัญสูงสุด เช่น กรณีเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามันในปี 2547 ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเช้านี้ ผมได้ใช้ระบบคาดการณ์และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (โดยความร่วมมือระหว่าง Futuretale Lab by MQDC และ Tsunami Engineering Lab, Tohoku University) พบว่าไม่มีการเกิดคลื่นสึนามิ ในขณะเดียวกันได้ทำการติดตามการทำงานของทุ่นน้ำลึก ทั้งหมด 7 ทุ่นในมหาสมุทรอินเดีย (ปัจจุบันใช้งานได้ 4 ทุ่น ชำรุด 3 ทุ่น) พบว่าไม่มีการเกิดสึนามิขึ้นจริงเช่นเดียวกัน

เรียบเรียง มุมข่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ