เตรียมรับมืออากาศแปรปรวนหนัก ทั้งร้อน-ฝน โปรดระมัดระวังสุขภาพ
กรมอุตุฯ ออกประกาศ พยากรณ์อากาศรายภาคของประเทศไทย พร้อมแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณประเทศไทย ประจำวันที่ 27 เมษายน 2566 รอบเวลา 06.00 น.
โดยเมื่อวานนี้ มีรายงานอุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทย ดังนี้
- บริเวณ ภาคเหนือ วัดได้ 42.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณภูมิสูงสุด วัดได้ 34.5 องศาเซลเซียส ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
รายงานสภาพอากาศ 24 ชม.ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้(26 เม.ย. 2566) จากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 51.8 มม บริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ส่วน กทม. รายงานจากสำนักการระบายน้ำ มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัด ปตร.คลองรางจาก - ถ.ประชาอุทิศ เขตทุ่งคุร วัดได้ 78.0 มม.
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (27 เม.ย. 66): บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือประมงขนาดเล็กควรงดออกจากฝังในระยะ 1-2 วันนี้
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. และ 2-3 พ.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง: ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้ว
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (26 - 27 เม.ย. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.9, 4.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 2.4, 1.9 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 27 เม.ย.-6 พ.ค.66 อัพเดท 2023042612 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) : ระยะนี้
(27-28 เม.ย.66) ยังมีพายุฤดูร้อน (พายุฝนฟ้าคะนอง) บริเวณภาคตกลาง ภาคตะวันออก กทม.ปริมณฑล และภาคใต้ แต่ทั้งเชิงพื้นที่และปริมาณลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ต้องระวังลมกระโชกแรง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เนื่องจากทิศทางลมและอากาศยังแปรปรวน เป็นช่วงที่จะเริ่มเปลียนถ่ายฤดูกาล ส่วนภาคเหนือยังมีอากาศยังร้อนบางพื้นที่ (ฝนน้อย) เนื่องจากยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออก พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมแรงขึ้นด้วย พี่น้องชาวเรือ ชาวประมง เดินเรือด้วยความระวัง ฝนที่ตกพอจะช่วยคลายร้อนและเพิ่มความชื้นในอากาศได้บ้าง
และเฝ้าระวังอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค.66 คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีมวลเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ทิศทางลมแปรปรวนอีกครั้ง ปริมาณฝนส่วนใหญ่ที่ตกในขณะนี้เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง
สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุม ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คลื่นลมมีกำลังปานกลาง แต่ระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ช่วงวันที่ 2-4 พ.ค.66 คลื่นลมจะแรงขึ้น และ 5-6 พ.ค.66 เริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางของลม จะเริ่มเปลี่ยนแปลงทิศทางเป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดจากทะเลอันดามัน เข้าสู่ฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และกลุ่มฝนจะเริ่มเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันตกไปทางตะวันออก เป็นช่วงเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูฝน (Pre monsoon) ต่อไป
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)
เรียบเรียงโดย มุมข่าว