บิ๊กตู่ ลั่น รับผิดชอบเอง ปมสามหมื่นล้าน ปิดเหมืองทองอัครา
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ในช่วงหนึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้รายงานถึงทางออกในการแก้ปัญหาเหมืองแร่อัครา ซึ่งขณะนี้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นอนุญาโตตุลาการฟ้องรัฐบาลไทย ว่าละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ของ คสช.ในคำสั่งฉบับที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 ระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ขณะที่รัฐบาลเอง ก็ดำเนินการเจรจาและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายมาโดยตลอด
ซึ่งที่ ประชุม ครม.รับทราบข้อสรุปในการหาทางออกเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.จ่ายเงินให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แล้วให้เลิกกิจการไป
2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน
3.รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม
4.หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหาย แล้วให้ดำเนินกิจการต่อ
โดยที่ประชุมเห็นว่า เมื่อรัฐบาลสั่งปิดกิจการของเหมืองไปแล้ว ไม่เห็นควรที่จะให้มีการดำเนินกิจการต่อไป และควรหาแนวทางอื่น ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรรอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม.ไม่ได้พิจารณาหรือเสนอแนะว่าควรใช้แนวทางใด ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขอเวลาคิดก่อนว่าจะใช้แนวทางใด เวลานี้ยังไม่ขอตัดสินใจพร้อมระบุว่า “ผมรับผิดชอบเอง” เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีเหมืองทองอัครา หลังเกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านและมีการตั้งคณะทำงานจากหลายกระทรวงร่วมพิสูจน์ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คสช.จึงใช้อำนาจม.44 สั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เหมืองทองอัครา ต้องยกเลิกการทำเหมือง และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองทองของบริษัทฯ
ต่อมานายเกร็ก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัคราฯ สมัยนั้น เดินทางมาไทยขอพบนางอรรชกา ศรีบุญเรือง สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่นางอรรชากา ให้นายสมชาย หาญหิรัญ สมัยเป็นปลัดกระทรวง พบแทน และต่อมาเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นนายอุตตม สาวนายน ก็ไม่ให้พบเช่นกัน สุดท้ายทำให้คิงเกตฯ บริษัทแม่ของอัคราฯ ตัดสินใจฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศwทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า)
รายงานข่าวจากผู้ประกอบการเหมือง กล่าวว่า ประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองอัครา วัดจากปริมาณสำรองแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ คิดเป็นวงเงินปริมาณ 37,020 ล้านบาท และเงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,984 ล้านบาท สามารถผลิตได้ในช่วง 8-10 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมี ประกอบด้วย ทอง 162 ล้านออนซ์ เงิน 28.4 ล้านออนซ์ ข้อมูลเหล่านี้คิงส์เกตได้ยื่นต่ออนุญาโตฯให้พิจารณาแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความเสียหายอื่นๆ อาทิ การเยียวยาพนักงาน เพราะจนถึงปัจจุบันทางรัฐบาลก็ยังไม่มีข้อยุติทางวิทยาศาสตร์ว่าเหมืองอัคราปล่อยสารพิษจนกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรอบเหมือง แต่ใช้อำนาจตามม.44 สั่งปิดเหมือง ทางคิงส์เกตจึงฟ้องร้องว่าไทยละเมิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย