พายุโนรู เคลื่อนตัวช้า พายุ 2 ลูกยังไม่ก่อตัว อ่อนกำลังลงกลายเป็น ดีเปรสชั่น
ตอนนี้พายุ โนรู ได้พัดถล่มทางตอนใต้ของภาคอีสาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ คือ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากน้ำท่วมสูง ในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะชาวบ้านใน อ.วารินชำราบ ต้องอพยพหนีน้ำพักอยู่ริมถนนข้างวัดแสนสำราญ และสะพานข้ามกุดปลาขาว ถึงแม้เวลานี้จะอ่อนตัวกลายเป็นดีเปรสชันแล้ว
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หลังได้เก็บข้อมูลฝนในประเทศลาว ประเทศที่รับพายุก่อนหน้าไทย เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูล เชื่อว่า ในครึ่งเดือนแรกของเดือนตุลาคม อาจจะยังไม่มีพายุลูกที่ 2 เข้าประเทศไทย ซึ่งตอนแรก มีการคาดการณ์ว่า อาจจะมีการตั้งเค้าและก่อตัวของพายุลูกใหม่ได้
เหตุที่จับตาก่อนหน้านี้เพราะแรงพายุโนรู อาจมีการกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวในทะเลจีนใต้ แต่จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พบว่า ไม่เอื้อ ต่อการหมุนตัวของพายุ สาเหตุเพราะ พายุ โนรู เคลื่อนที่ช้าลง ทั้งที่คาดการณ์ไว้ว่า ฝนจะเริ่มตกในประเทศไทย จากอิทธิพลโนรู ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย. วันที่ 30 แนวพายุอาจจะไปถึงจังหวัดตาก เพื่อเข้าพม่าแล้ว
แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้ มีการเปลี่ยนไป เมื่อพายุเคลื่อนที่ช้า และอ่อนกำลังลง จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังจากนี้ วันที่ 1 ตุลาคม อาจจะยังมีฝนตกอยู่ เพราะความกดอากาศยังอยู่ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้สิ่งที่เราจับตาไว้ว่าอาจจะมีพายุ ก่อตัวอีกลูก กลายเป็นว่า หย่อมความกดอากาศต่ำ ที่จะก่อตัวพายุที่ทะเลจีนใต้อีก 1 ลูก มันพัฒนาขึ้นมาได้ไม่มาก ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดพายุลูกที่ 2 แต่ความกดอากาศดังกล่าว แม้ไม่แรง แต่ก็มีกำลังสร้าง ร่องมรสุม ดังนั้น วันที่ 1-3 ตุลาคม อาจจะทำให้มีฝนตกที่บริเวณ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ต่อไปอีก แต่ไม่ได้เป็นระดับพายุแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเตรียมรับฝนต่อเนื่องไปถึงวันที่ 4
ฝนเริ่มตกหนักที่อุบลฯ ช่วงเวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น. หลังจากนั้นก็เริ่มซาลง จากนั้นตอนเช้าก็เริ่มเบาๆ และปัจจุบันมีแดดแล้ว ดร.สุทัศน์ กล่าว
ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปริมาณฝนดังกล่าว ถือเป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะจากการเก็บข้อมูลพายุโนรูที่ประเทศลาว คาดว่า จะมีปริมาณฝนถล่ม จังหวัดอุบลราชธานีสูงสุด ประมาณ 200-240 มิลลิเมตร เพราะฝนตกที่ลาว มีปริมาณฝนอยู่ที่ 216 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เป็นข้อดีที่ต้องชมทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การเตรียมตัว เพราะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า รวมไปถึงสื่อมวลชนทุกแห่ง ที่ช่วยกันทำข่าว แจ้งเตือนประชาชน ทำให้มีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี มีการตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้ารองรับ
ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า หลังจากพายุโนรู ผ่านอุบลราชธานีแล้ว พายุจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก ซึ่งจะมีผลต่อภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ กทม. จะมีอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนไปเรื่อยๆ และมีฝนตกทั่ว กทม.
พายุผ่าน หางพายุยังอยู่ ต้องเฝ้าระวัง พื้นที่ตะวันออก และริมทะเล
ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ตอนนี้เขื่อนขนาดกลาง มีน้ำมากพอสมควรหลายๆ เขื่อน ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ อาจจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำ เมื่อเจอน้ำฝนสมทบ ก็อาจจะทำให้เดือดร้อน โดยเฉพาะเขื่อนภาคตะวันออก ซึ่งถือว่ามีการเก็บกักสูง ทำให้เวลานี้เขาเร่งระบายออก
นอกจากนี้ เรายังต้องระวัง หางพายุ แม้ภาคตะวันออก จะอยู่ไกลจากอุบลฯ แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ จ.ปราจีนบุรี ใกล้กับ เขาใหญ่ ต้องระวัง เพราะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้ ต้องสื่อสารเตรียมรับมือให้ดี เพราะจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล หรือ ใกล้ภูเขาที่มีแนวลมปะทะ ก็มีผลกระทบด้วย แม้โนรูผ่านไปแล้ว แต่ลมหางพายุยังอยู่ ฉะนั้น จังหวัดที่อยู่ติดทะเลก็ต้องระวังคลื่นสูง คนที่ออกทะเลก็ต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดกัน
ดร.สุทัศน์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า นอกจากพายุที่เกิดในทะเลจีนใต้แล้ว เวลานี้ เราก็ดูพายุที่อาจจะเกิดใน อันดามัน โดยเฉพาะในพื้นที่ ใกล้ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าไกล ประเทศไทย จะส่งผลทางอ้อม ทำให้เกิดเป็นแนวปะทะกับลมพายุของโนรู ส่งผลให้ภาคใต้ และฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ติดทะเลมีฝนเพิ่มขึ้น เพราะการตีของลมพายุทำให้ลมในทะเลอันดามันขึ้นมาเติม
อย่างไรก็ตาม หากมีการเกิดพายุ 2 ลูก พร้อมกันแล้วเข้าใกล้กัน มันก็มีโอกาสที่จะดึงกันได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า ฟูจิวารา (fujiwara effect) ถ้าพายุ 2 ลูกอยู่ใกล้กันจะเกิดการดึงกัน หรืออาจมารวมกัน โดยพายุลูกที่เล็กกว่าจะถูกดึงมารวมกับลูกที่ใหญ่กว่า