ขึ้นค่าไฟ เริ่ม ม.ค.-เมษา
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 กกพ. มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังงานน้ำลดลงตามฤดูกาลและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ลดลงตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูกลดลง
นอกจากนั้น ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นในตลาดโลก และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายสัมปทาน “หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ Ft อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา
จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวส่งผลให้เกิดภาวะพลังงานตึงตัว (Energy Crisis)
เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. 2565 (ที่ใช้ค่าจริงเดือนกันยายน 2564 ในการประมาณการ) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์ นายคมกฤช กล่าว
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. 2565 ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. 2565 เท่ากับประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. 2564) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 60.27 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 13.92 และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 7.68 ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 7.55 และอื่นๆ อีก ร้อยละ 6.92
3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. 2564 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. 2564 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ดังที่แสดงในตาราง
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 ถึง 30 กันยายน 2564) เท่ากับ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายคมกฤช กล่าวว่า จากการประชุม กกพ. ล่าสุด กกพ. ห่วงใยสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างมาก และเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานเป็นวงกว้าง และได้พิจารณานำเงินบริหารจัดการค่า Ft และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา จำนวนเงิน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่า Ft ทั้งหมด 18,640 ล้านบาท
ตลอดจนได้พิจารณาค่าแนวโน้มปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันตลาดโลกคาดการณ์เฉลี่ยลดลงมาเป็นประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และให้มีการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันทดแทน Spot LNG ซึ่งมีราคาสูงเพื่อลดผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมแล้ว ยังคงทำให้ค่าเอฟทีต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.18 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 22.50 สตางค์ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเป็นอย่างมาก
ดังนั้น กกพ. จึงได้พิจารณาแนวทางในการลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปีโดยทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟทีแบบขั้นบันได โดยในงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2565 จะเพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยปรับปรุงตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป
กกพ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคาดหวังว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และราคาเชื้อเพลิงยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้บ้าง หลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาพลังงานระยะต่อไปยังคงมีความผันผวนและเป็นแนวโน้มขาขึ้น ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายสัมปทาน
จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการประหยัดใช้พลังงาน กกพ. จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลัง CV19 ได้อย่างราบรื่นและมีความสมดุล ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนมกราคม ถึง เมษายน 2565 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 19 ถึง 25 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
ขอบคุณ