ลูกชาย ม.2 แจ้งตำรวจจับแม่
วันที่ 19 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า จากกรณีที่มีคุณแม่รายหนึ่งเข้ามาโพสต์แชร์ประสบการณ์ลูกเรียนออนไลน์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ระบุว่า เรียนออนไลน์เป็นเหตุ เราสอนการบ้านลูกจนต้องต ีกัน ลูกติดเกม สรุปลูกโทรแจ้งตำรวจมาจับเราเพราะโมโหจนทำลูก การเรียนออนไลน์ทำให้แม่กลายเป็นนางมารร้ายไปแล้ว
ล่าสุด วันนี้ รายการเรื่องเล่าเสาร์ อาทิตย์ ช่อง 3 รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปที่คุณแม่รายดังกล่าว คือ น.ส.เอ (นามสมมุติ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ลูกชายซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.2 ไม่ยอมเข้าเรียนออนไลน์ ไม่ยอมทำงานส่ง ซึ่งคุณครูก็ตามงาน เพราะใกล้จะสอบและปิดเทอม แต่ลูกอิดออดไม่ยอมเรียนออนไลน์
น.ส.เอ ยอมรับว่า ตนเองเครียดที่สะสมเรื่องสภาพเศรษฐกิจในบ้าน ปัญหาในครอบครัว ด้วยความกดดันจึงสติหลุดและใช้ไม้บรรทัดทำลูก ซึ่งตอนนั้นลูกพยายามเข้ามากอด แต่ตนเองก็หยิกลูกจนเป็นรอยเล็บที่แขน
โดยความที่ลูกชายกลัวแม่มาก จึงจับตนเองเข้าไปขังในห้อง และวิ่งลงไปขอความช่วยเหลือจากคนในหอพัก และโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ซึ่งเมื่อตำรวจมาก็มาพูดกับตนเองว่าทำแรงเกินไป แม้ว่าจะเป็นลูกก็ไม่ควรทำ โดยตำรวจดูจากรอยแผลรอยเล็บที่ตนหยิกลูก แต่ไม่ได้ถามอะไร
ซึ่งตนเองอธิบายไปว่าไม่ได้ทำแรงอะไร และไม่ได้มีเจตนา และเพิ่งเคยทำลูกเป็นครั้งแรกเพราะโมโห พร้อมบอกว่าลูกมีปัญหาเรื่องติดเกม ไม่ยอมเรียนออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็เครียดเพราะคุณครูบางรายพูดจาคล้ายบูลลี่ลูกชาย เวลาส่งงานไปแล้วพอทำไม่ถูกก็ถูกครูต่อว่ากลับมา ซึ่งทำให้กระทบจิตใจลูกชาย
น.ส.เอ ยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่เรียนออนไลน์มา ลูกชายเปลี่ยนไป จากเดิมเป็นเด็กดี ไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อน ใช้ชีวิตปกติ ตอนนี้ตื่นมาเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ไม่ได้ออกไปพบใคร เรียนทั้งวันก็เครียด บางเรื่องเรียนไม่เข้าใจ ตนเองก็ต้องมาเรียนด้วย มาทำการบ้านช่วยลูก จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาสะสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งลูกชายถอดใจไม่อยากเรียน
ซึ่งก่อนหน้านี้ลูกชายไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์ ตนเองจึงซื้อโทรศัพท์มือถือไว้ให้ใช้เรียนออนไลน์ แต่ลูกเอาไปเล่นเกมด้วย กลายเป็นว่าติดเกม และไม่ยอมทำงานส่ง จนตนเองต้องตามจี้ และโมโหจนตีลูก
ทั้งนี้ ตอนนี้ตนเองและลูกชายได้ปรับความเข้าใจกันแล้ว แต่มีความกังวลเพราะลูกชายซึ่งเรียนอยู่ ม.2 กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จึงไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่ และเชื่อว่าถ้าลูกได้ไปโรงเรียนและใช้ชีวิตตามปกติ ปัญหาที่เกิดขึ้นคงจะไม่มี และเชื่อว่าครอบครัวอื่นๆ ก็ประสบปัญหาจากการเรียนออนไลน์ของลูกเหมือนกัน