เตรียมใจ สธ. เผยอาจล็อกดาวน์ยาว 2 เดือน แม้คนติดเชื้อไม่ลด
วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภาพจำลองโควิด 19 ของไทย หัวข้อ คาดการณ์สถานการณ์การระบาด COVID-19 ของประเทศไทย ระหว่างสิงหาคม - ธันวาคม 2564 จัดทำโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นการวิเคราะห์มาตรการล็อกดาวน์และฉีดวัคซีน ว่า หากทำได้ตามเป้าหรือไม่เป็นไปตามเป้า จะมีแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างไรบ้าง
สธ. ชี้ ล็อกดาวน์ 2 เดือน ลดขนาดการระบาดไม่ได้ แต่คาดกดยอดคนตายได้ เหลือไม่เกิน 200 คนต่อวัน ในภาพจำลอง สรุปว่า หากล็อกดาวน์หนึ่งเดือน (เริ่ม 19 กรกฎาคม 64) คาดว่าจะสามารถชะลอจุดสูงสุดของการใช้ทรัพยากรถึงต้นเดือนตุลาคม และหากล็อกดาวน์ 2 เดือน คาดว่าจะสามารถชะลอจุดสูงสุดของการใช้ทรัพยากรถึงปลายเดือน พฤศจิกายน หากมาตรการล็อกดาวน์ได้ผลมากขึ้น เช่น จากที่ช่วยลดค่า R ได้ 20% เป็น 25% น่าจะสามารถชะลอจุดสูงสุดของการใช้ทรัพยากรได้ประมาณสองสัปดาห์ แต่ขนาดของการระบาดโดยรวมไม่เปลี่ยนไปมากนัก
หากมาตรมาตรการล็อกดาวน์ได้ผล และร่วมกับมาตรการวัคชีนในผู้สูงอายุได้ผลดี และดำเนินการได้รวดเร็ว ในเวลาไม่เกิน 2 เดือน น่าจะช่วยคงให้ความชุกของการใช้เครื่องช่วยหายใจไม่เกิน 1,500 รายต่อวัน และ อุบัติการณ์การเสียชีวิตไม่เกิน 200 รายต่อวัน ไปจนถึงเดือนธันวาคม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา อธิบายภาพจำลองดังกล่าว ระบุว่า เห็นการจำลองตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขแล้วน่ากลัวมาก พบว่า ถ้าไม่คุมให้ดี มีโอกาสติดวันละ 45,000 คน ตายวันละ 450 คน ผลการล็อกดาวน์วันนี้เราลดได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คนติดเชื้อและคนตายไม่มากเท่านั้น แต่ต้องแลกด้วย มาตรการจำนวนมากที่ทำให้ทุกคนกระทบชีวิตประจำวัน อาชีพการงานและการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนป่วยและเสียชีวิตมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว ซึ่งวันนี้ก็เริ่มเกินแล้ว ถ้ามากกว่านี้ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร
สธ. ยอมรับ การล็อกดาวน์อาจยืดเยื้อถึง 2 เดือน - หวั่นแม้ล็อกดาวน์ คนติดเชื้อรัววันละ 25,000 คน ตาย 350 ต่อวัน ในภาพจำลองนี้ แสดงให้เห็นว่าการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อไปอีก 2 เดือน เพื่อลดให้คนป่วยน้อยจนเตียงพอดูแลได้ และไม่ให้มีคนตายเยอะ ในภาพความเป็นจริงจะเป็นได้หรือไม่ต้องติดตามดู และขึ้นกับสถานการณ์ของทรัพยากรและบุคลากรทางสาธารณสุข ที่จะต้องโหมกระหน่ำลงไปสู้กัน สงครามนี้ไม่มีคนชนะมีแต่ความเสียหาย ความสูญเสีย และความตาย ท่ามกลางความอดทนและเสียสละของทุกฝ่าย แต่อย่างไรพวกเราทุกคนก็ต้องสู้ต่อ ไม่นานเชื้อเหล่านี้จะหมดไปโดยธรรมชาติ เราต้องอดทน ต่อสู้ ให้ถึงวันนั้น
ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Kiattibhoom Vongrachit แสดงความเป็นห่วงตัวเลขจากภาพจำลองดังกล่าวที่พบว่า ต่อให้ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์สูงถึง 25% และยอมล็อกดาวน์นานถึง 2 เดือน ก็ยังประเมินว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน น่าจะยังขยับขึ้นไปแตะที่ระดับ 25,000 รายต่อวัน โดยมีผู้เสียชีวิตสูงสุดอยู่ที่ 350 คนต่อวัน และถ้าการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20% และสามารถล็อกดาวน์ได้เพียง 1 เดือน ก็ประเมินกันว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน อาจจะขยับไปแตะถึง 35,000 รายต่อวัน โดยมีผู้เสียชีวิตสูงสุดเกือบวันละ 500 ราย ปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 200 คนต่อวันได้ นอกจากการล็อกดาวน์ ก็คือการเร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพกับกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใน 1-2 เดือน ซึ่งล็อตที่สั่งซื้อไปแล้วก็คงต้องรอการส่งมอบ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้ ก็คือการใช้การทูตในการขอความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ที่สำรองวัคซีนไว้มากกว่าศักยภาพในการฉีด ในการบริจาควัคซีน หรือขอให้ส่งวัคซีนที่มีอยู่เกิน และเข้าใกล้วันหมดอายุมาให้เราได้ฉีดก่อน แล้วเมื่อวัคซีนที่เราสั่งซื้อมาถึงเราจะนำไปส่งมอบคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ
หวั่นน่ากลัวกว่า จำนวนผู้ป่วยจริงเยอะกว่าที่รายงาน 6 เท่า ติดไม่รู้ตัวว่าติด โอกาสเสียชีวิตสูง ที่น่ากังวลที่สุดคือ จำนวนผู้ป่วยสีเขียวที่มีอยู่จริง น่าจะมีจำนวนเป็น 6 เท่าของผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่เข้าถึงการรักษา หมายถึง มีผู้ป่วยสีเขียวที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรืออาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดโควิด สูงถึง 337,505 คน ทำให้การแพร่ระบาดยังคงขยายตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง มีการประเมินกันว่า จำนวนที่มีอยู่จริงน่าจะมีจำนวนเป็น 3 เท่า หรือ 171,874 คน
ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงการรักษา มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีแดงและมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตสูง ส.ส.วิโรจน์ เสนอแนะว่า รัฐต้องเร่งให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ตามคำสั่งแพทย์ให้เร็วที่สุด, แจกชุดตรวจ ATK ฟรีทุกสัปดาห์ หรือให้ซื้อตรวจเองได้ในราคาถูก ไม่ควรจะเกินชุดละ 50 บาท, เร่งสร้างศูนย์พักคอย รองรับ 150,00-200,000 คน ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้, เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง นำผู้ป่วยาส่งที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ถูกปฏิเสธ เป็นต้น