หมอ มนูญ แนะใส่หน้ากากในบ้าน
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนจะรับคนไข้เข้านอนในโรงพยาบาล ทุกคนไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม จะได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ และตรวจซ้ำภายใน 72 ชั่วโมงหลังเข้านอนในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
มีการศึกษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองบอสตัน ระหว่างเดือนกันยายน 2020 - เมษายน 2021 โรงพยาบาลนี้มีเตียงทั้งหมด 803 เตียง 28% เป็นห้องคู่ มีคนไข้เข้านอนในห้องคู่ทั้งหมด 11,290 คน คนที่เข้านอนในห้องคู่ต้องไม่มีอาการของโรคโควิด ในจำนวนนี้ 25 คนตรวจวันแรกให้ผลลบ ตรวจซ้ำใน 3 วัน ให้ผลบวก หมายความว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนอกโรงพยาบาล มีคนไข้ที่นอนในห้องคู่กับผู้ติดเชื้อทั้งหมด 31 คน อายุเฉลี่ย 64 ปี ปรากฏว่า 12 จาก 31 คนติดเชื้อจากคนไข้ที่นอนในห้องเดียวกัน คิดเป็น 39 % ส่วนใหญ่ติดเชื้อภายใน 5 วัน
ความเสี่ยงในการติดเชื้อสัมพันธ์กับปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 (cycle threshold value < 21) ของคนแพร่เชื้อ เชื้อยิ่งมาก โอกาสแพร่เชื้อยิ่งมาก เวลานอนในห้องเดียวกันทั้งคนแพร่เชื้อและคนรับเชื้อไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย เตียงห่างกันประมาณ 2 เมตร มีผ้าม่านกั้นระหว่างเตียงตลอดเวลา คนที่รับเชื้อไม่ได้สัมผัสตัว ไม่ได้พูดคุย หรือใกล้ชิดกับคนที่แพร่เชื้อ แต่ใช้ห้องน้ำเดียวกัน มีการทำความสะอาดพื้นผิวพื้นที่ในห้องผู้ป่วยทุกวัน . การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า เชื้อโควิดแพร่กระจายทางอากาศ
โดยเชื้อโรคออกมากับลมหายใจของคนแพร่เชื้อ แล้วคนรับเชื้อ หายใจเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ ไม่ได้เกิดจากหายใจหยดละอองขนาดใหญ่จากการอยู่ใกล้ชิดในระยะ 1-2 เมตร หรือติดทางการสัมผัสกับคนที่แพร่เชื้อ ช่วงที่ทำการศึกษายังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ถ้าเป็นสายพันธุ์เดลต้า เปอร์เซ็นต์ของคนติดเชื้อคงมากกว่า 39% แน่นอน เชื้อสายพันธุ์เดลต้าติดต่อกันได้ง่ายมาก เนื่องจากปริมาณเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในทางเดินหายใจมากกว่าสายพันธุ์เดิม 1,000 เท่า การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดทำได้ยาก ขนาดโรงพยาบาลนี้ มีการคัดกรองก่อนจะอนุญาตให้เข้านอนในห้องคู่ วันแรกต้องไม่มีอาการ และตรวจแยงจมูกโควิดต้องมีผลลบ ยังพบว่าหลังจากนั้น 3 วัน ตรวจโควิดซ้ำเปลี่ยนเป็นบวก ทำให้คนที่นอนห้องเดียวกันร้อยละ 39 ติดเชื้อแม้จะเว้นระยะห่าง ไม่กินอาหารร่วมกัน ไม่อยู่ใกล้ชิดกัน เพียงแต่นอนในห้องเดียวกัน หายใจอากาศในห้องเดียวกัน โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย
การระบาดในประเทศไทยรอบนี้ติดกันในบ้านครัวเรือนเดียวกันมากที่สุด ทำให้การล็อกดาวน์ได้ผลน้อย การป้องกันการติดเชื้อในบ้านเดียวกันเป็นเรื่องยากมากๆ สมาชิกในบ้านสามารถติดเชื้อนอกบ้านและนำเชื้อเข้าบ้านถึงแมัไม่มีอาการ ยิ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้าติดเกือบยกครัวเรือน
ถึงเวลาแล้วที่คนในบ้านคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเวลาออกนอกบ้าน เริ่มจากคนที่ออกนอกบ้านทุกวัน เช่นคนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก คนที่ไปจับจ่ายซื้อของ ซื้ออาหาร ไปทำธุระธนาคาร ไปรษณีย์ ควรล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและทันทีที่เข้าบ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างอยู่ในบ้าน เผื่อเป็นโรคโควิดจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในบ้านที่ไม่ได้ออกไปไหนเลย
ขอบคุณ เรื่องเล่าเช้านี้