สาวไปทำงานต่างประเทศ
อุทาหร์ สำหรับคนอยากไปทำงานต่างประเทศ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการแชร์คลิปจากเฟซบุ๊ก Manussanun Kieth ซึ่งเป็นคลิปที่สาวเจ้าของเฟซบุ๊กคนหนึ่ง ที่เดินทางมาทำงานที่ดูไบ แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง เมื่อสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ เงินทองที่หามาได้ก็ไม่พอ
และเมื่อเธอร้องขอกลับประเทศ กลับถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตอีก ทั้งนี้ เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวเผยว่า ตนเดินทางมาทำงานที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีค่าจ้าง 2,500 เดอร์แฮม หรือประมาณ 20,000 บาท ซึ่งนายจ้างบอกว่า จะมีการเปลี่ยนวีซ่าเป็นแบบทำงานภายหลัง
ทั้งนี้ ตนทำงานที่ร้านทำเล็บ มีการระบุว่า มีที่พักฟรี ข้าวฟรี แต่จะถูกหักเดือนละ 500 เดอร์แฮมทุกเดือน เป็นค่าดำเนินการขอวีซ่า แต่พอมาอยู่จริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คุย ห้องพักอยู่รวมกันหลายคน แออัด ห้องน้ำมีห้องเดียว อาหารฟรีก็มีแต่ข้าวเปล่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตนถูกนายจ้างไล่ออก อีกฝ่ายอ้างว่าตนไม่ตั้งใจทำงาน และ สู บ บุ ห รี่ ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ได้ สู บ หลังจากถูกไล่ออก ตนอยากกลับไทย แต่กลับไม่ได้เพราะถูกยึดพาสปอร์ตเอาไว้ พอไปคุยกับนายจ้าง ก็ถูกเรียกเงิน 6,300 เดอร์แฮม ประมาณ 50,000 บาท ซึ่งมากกว่าเงินเดือนเกือบ 3 เท่า เขาบอกว่าจะเป็นค่าดำเนินการยกเลิกวีซ่าทำงาน และจะคืนพาสปอร์ตให้ ซึ่งตนไม่จ่าย เพราะถูกเลิกสัญญาจ้างและไม่ได้หนีออกมา อีกทั้งเงินจำนวนนี้มันมากเกินไป ทั้งที่ค่าดำเนินการวีซ่าอยู่ที่ 265 เดอร์แฮมเท่านั้น
ระหว่างที่พูดในคลิป เธอก็ร้องไห้ออกมา บอกว่า คิดถึงแม่ อยากกลับบ้าน และจวกร้านยับ ๆ ว่า เป็นร้านที่หลอกขายแรงงานไทย หากใครคิดมาทำงาน อย่ามา ด้านรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า นางสาวมนัสนันท์ เกียรติธนโชติกุล ผู้โพสต์ เล่าว่า ตอนนี้อยากกลับบ้านมาก
หลังจากถูกเลิกจ้างก็เช่าโรงแรมอยู่ มีค่าใช้จ่ายทุกวัน ตนติดต่อสถานกงสุลให้ช่วยไกล่เกลี่ยก็ไม่มีความคืบหน้า มืดแปดด้าน ไม่รู้ควรทำยังไงแล้ว จากนั้นมีการติดต่อขอสัมภาษณ์นายจ้างซึ่งเป็นคนไทย นายจ้างบอกว่า ยึดพาสปอร์ตไว้จริง แต่ไม่มีการบอกข้อมูลอื่น ๆ เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อสถานกงสุลใหญ่ดูไบ ทางกงสุลบอกว่า กรณีนายจ้างลูกจ้างไม่สามารถตกลงกันได้ แนะนำให้ลูกจ้างยื่นร้องเรียนกระทรวงแรงงานฟูไจราห์ เจ้าหน้าที่จะยึดตามสัญญาจ้างที่ตกลงกัน และถ้าหากไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถยื่นร้องเรียนนายจ้างตามกฎหมายแรงงานของที่นี่ได้
ขอบคุณ เรื่องเล่าเช้านี้