หนูน้อย อายุ 22 วัน ติดโควิด19
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 พญ.สุภารัชต์ กาญจนะวณิชย์ กุมารแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ รพ.นครพิงค์ เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลนครพิงค์ ระบุข้อความว่า การระบาดของโรคโควิดระลอกนี้ของจ.เชียงใหม่ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ (อายุน้อยที่สุดเพียง 22 วัน) จากสถิติผู้ป่วย โควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่จนถึงวันที่ 27 เม.ย.64 มีผู้ป่วย โควิด-19 สะสม 3,359 ราย พบว่ามีการติดเชื้อในครอบครัวค่อนข้างมาก และเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ถึง 99 ราย (2.9 %)
แม้ว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคโควิดที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน
การดูแลผู้ป่วยเด็กในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแล และให้คำปรึกษากรณีเด็กติดเชื้อ โควิด-19 โดยทีมกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลนครพิงค์ รพ.นครพิงค์จะรับดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงสูงและเด็กที่มีอาการ ส่วนเด็กที่ไม่มีอาการหรือไม่มีความเสี่ยงสามารถให้การดูแลที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลสนาม เช่น กรณีที่ศูนย์เด็กเล็ก ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ได้
ที่ผ่านมา รพ.นครพิงค์ได้ให้การรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ ไป 12 ราย พบว่าเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีถึง 9 ราย โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ติดเชื้อโควิดมีอายุเพียง 22 วัน เด็กส่วนใหญ่มีอาการระดับปานกลาง(ระดับสีเหลือง) 8 ราย (73%) คือมีผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติแต่ไม่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ มีเด็ก 1 รายที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และมีเด็ก 2 ราย ที่มีความเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ
ในเด็ก 12 รายนี้ อาการพบบ่อยได้แก่ น้ำมูก 82% และมีไข้ 45% นอกจากนั้นมีอาการถ่ายเหลว ทานได้ลดลง เล่นลดลง,ซึม หรือมีผื่น ในรายที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงจะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ หลังจากที่ได้ให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ไป 10 จาก 12 ราย เด็กทุกรายมีอาการดีขึ้นหลังจากได้ยา การที่เด็กป่วยเป็น โควิด-19 มีผลกระทบทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ทีมแพทย์และพยาบาลผู้รักษาจำเป็นต้องมองให้รอบด้านเป็นองค์รวม เช่น กรณีตรวจพบเด็กติดเชื้อ โควิด-19
แต่พ่อแม่ตรวจไม่พบเชื้อหรือพ่อแม่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่เด็กไม่ติดเชื้อ ซึ่งหลักของการควบคุมโรคติดต่อจำเป็นต้องมีการแยกเด็กที่ติดเชื้อ โควิด-19 และกักตัวนานอย่างน้อย14 วัน การกักตัวเด็กเล็กที่ติดเชื้อ โควิด-19 ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจทั้งการถูกจำกัดพื้นที่ การที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังดูแลตนเองไม่ได้
โดยทั่วไปแล้วในเด็กก่อนวัยเรียน เด็กมักจะอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่จึงมีโอกาสที่จะสัมผัสความเสี่ยงได้น้อย การได้รับเชื้อของเด็กกลุ่มนี้จึงเกิดจากผู้ใหญ่ที่นำเชื้อมาติดเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยง ดังนั้น จึงอยากจะสื่อสารถึงทุกท่าน ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ งดไปพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันทั้งตัวท่านเองและเด็กๆที่อาจจะต้องมาติดเชื้อจากท่าน แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ขอบคุณ ภาพจากโรงพยาบาลนครพิงค์ และ Teenee