โรคไข้หูดับระบาด
เมื่อวันที่ 7 เมษายน เพจ Korat : เมืองที่คุณสร้างได้ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ต้องระวัง สสจ.โคราชเตือน โคราชตายแล้ว 3 ราย โรคไข้หูดับระบาด เตือนงดรับประทานเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานเท่านั้น วันนี้ (7 เมษายน 2564) นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์
ภาพจาก Korat : เมืองที่คุณสร้างได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมเปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 เมษายน 2564 จังหวัดนครราชสีมามีอัตราป่วยด้วยโรคไข้หูดับ จำนวน 21 ราย พบผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด มีผู้ป่วยถึง 18 ราย ซึ่งป่วยจากการกินหมูดิบในงานบวชงานหนึ่ง ทำให้มีผู้ป่วยจนผู้เสียชีวิตจากการกินหมูดิบในงานนี้ 2 ราย
ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ สามารถป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ทำให้หมูป่วยและติดต่อจากหมูสู่คน โดยการสัมผัสทางบาดแผลตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่เลี้ยงหมูหรือทำงานชำแหละหมู สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น นํ้ามูก น้ำลาย . รวมถึงผู้จำหน่ายและผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด .
สำหรับการป้องกัน ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เลี่ยงการซื้อหมูที่จำหน่ายข้างทาง ตลาดขายเร่ ตลาดขายของป่า หรือซื้อหมูมาชำแหละเอง ส่วนผู้เลี้ยงหมู ทำงานในโรงฆ่าสัตว์
ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู ควรสวมเสื้อ รองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ หลังงานเสร็จจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด . ไม่รับประทานลาบ ลู่ หมูดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ให้กินอาหารที่ปรุงสุกร้อน ผ่านความร้อนอย่างน้อย 10 นาที ไม่ควรนำหมูที่ป่วยตายมาบริโภค และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมูป่วย ที่สำคัญให้ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู ขณะที่การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย หากมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ขอบคุณ Korat : เมืองที่คุณสร้างได้