คปภ. สรุปเงินเยียวยา มอบให้ดับเพลิงฮีโร่ เหตุตึกถล่ม
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยถึงกรณี เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเลขที่ 138/12 หมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 เป็นเหตุให้บ้านลักษณะอาคาร 3 ชั้น เกิดพังถล่มได้รับความเสียหายทั้งหลัง และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนี้ทั้งหมด 4 ราย เป็นอาสาสมัครของสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย ว่า เบื้องต้นสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว และพบว่าบ้านที่ถล่มลงมานั้นได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินเอาประกันภัย 7,920,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยได้เข้าสำรวจภัยเพื่อตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินแล้ว และพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนทันที หากหลักฐานครบถ้วน
ส่วนของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยพบว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ได้ทำประกันภัยประเภทต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
1. นายสมัญญา นิลธง หนึ่งในกู้ภัยที่ได้ที่เสียชีวิต ได้ทำประกันอุบัติเหตุกับบริษัท เอไอเอ คุ้มครองการเสียชีวิต รับเงินสินไหมทดแทน 625,000 บาท, ประกันสะสมทรัพย์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 204,048.60 บาท และมีสัญญาแนบท้ายเพิ่มเติมเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท สรุปได้เงินทั้งหมด 929,048.60
2. นายอรรถพล ท้วมทอง หนึ่งในกู้ภัยที่ได้ที่เสียชีวิต ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 375,000 บาท
3. นายสุทัศน์ เปลี่ยนกลัด หนึ่งในกู้ภัยที่เสียชีวิต ได้ทำประกันชีวิต คุ้มครองโควิด 19 จำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิตทุกกรณี 10,000 บาท ทั้งนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย คงเหลือจำนวนเงินเอาประกันภัย 9,550 บาท
4. นายเกียรติ แพตเตอร์สัน คนงานในบ้านที่เสียชีวิต ได้ทำประกันชีวิตกับบริษัท เอไอเอ จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ (เอ.ดี.ดี) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท รวมเป็น 1.2 ล้านบาท
5. นายสุรศักดิ์ เปลี่ยนกลัด (ผู้บาดเจ็บ) ได้ทำประกันชีวิตกับ เอไอเอ จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท โดยการพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท และเงินชดเชยราย ได้การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 3,000 บาท ไม่เกิน 365 วัน
สำหรับเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ทำประกันภัยไว้ทั้ง 4 ราย ได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็ว เบื้องต้นคาดว่าทางครอบครัวของนักดับเพลิง และเลขานุการเจ้าของบ้านผู้เสียชีวิต จะได้รับเงินเยียวยาจากระบบประกันภัย รวมทั้งสิ้น 2,513,598.60 บาท จากการประกันภัยอุบัติเหตุ 2,000,000 บาท และการประกันชีวิต 513,598.60 บาท
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย