ครม.ไฟเขียว บังคับหักเงินลูกจ้าง เข้ากองทุนเป็นเงินออม
ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ตั้งกองทุน กบช. ดึงแรงงานภาคเอกชนเข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำหนดเงินสมทบ 3-10% ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า
ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบในหลักร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแรงงานภาคเอกชน สำหรับฉบับแรก ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งมีสาระสำคัญ คือ จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า กบช. ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
ส่วนวัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าว ให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญโดย กองทุนนี้จะถือเป็นศูนย์กลาง บูรณาการการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญด้วย อย่างไรก็ตาม ในสาระของกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นสมาชิกของ กบช.
ทั้งนี้ กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่ายโดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน เช่น ลูกจ้างตั้งแต่ปีที่ 1-3 จะ ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง ลูกจ้างตั้งแต่ปีที่ 4-6 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง และตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 7-10% ของค่าจ้าง
ส่วนกรณีที่ลูกจ้างมีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว ส่วนการรับเงินจาก กบช. จะได้รับเมื่อสมาชิกมีอายุครบ 60 ปี โดยสามารถเลือกเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ส่วนร่างกฎหมายที่ 2 คือร่างกฎหมายคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการจัดระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ จะมีทั้งหมด 10 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีการตรวจ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขอบคุณ efinancethai