พนักงานการบินไทย ยื่นโครงการสมัครใจเออร์ลี่ รีไทร์ ไม่ตํ่ากว่า 2,000 คน หากไปต่อก็ลำบาก

พนักงานการบินไทย ยื่นโครงการสมัครใจเออร์ลี่ รีไทร์ ไม่ตํ่ากว่า 2,000 คน หากไปต่อก็ลำบาก

มีรายงานว่า ขณะนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างเปิดให้พนักงานมายื่นความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ (Relaunch) โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 11-19 มีนาคม 2564 ควบคู่ไปกับการเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP B และ MSP C) หรือ เออร์ลี่ รีไทร์ ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ที่จะลดจำนวนพนักงานจาก 1.9 - 2.1 หมื่นคน ในปี 2563 ให้เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน

โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP B และ MSP C) คืออะไร ?

MSP B จะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการลาระยะยาว (Leave with 20% pay หรือ LW20) ไปแล้วก่อนหน้านี้สามารถยื่นสมัครใจลาออกได้

MSP C จะเปิดให้พนักงานที่ไม่ประสงค์สมัครคัดเลือกเข้าทำงานตามโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือพนักงานที่สมัครคัดเลือกเข้าตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่แต่ไม่ได้รับคัดเลือก และประสงค์ลาออกจากบริษัทที่ผ่านมา

หลังเปิดโครงการมีพนักงานเข้าร่วมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน

หลังเปิดให้ยื่นสมัครทั้ง 2 โครงการพร้อมกันไปแล้ว 2 ช่วง พบว่ามีพนักงานการบินไทยเข้าร่วมโครงการแล้วไม่ตํ่ากว่า 2,000 คนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ยื่นสมัครในช่วงที่ 3 คือ 17 มีนาคม - 1 เมษายน นี้ รวมถึงยังมีการยืดระยะเวลาแสดงความจำนงเข้าร่วม MSP B และ MSP C ช่วงที่ 4 จากวันที่ 2-19 เมษายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 2-26 เมษายน นี้ เพื่อให้พนักงานมีเวลาตัดสินใจ ตามไทม์ไลน์ของกระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่

ทราบผลวันไหน

การบินไทยจะประกาศรายชื่อพนักงานที่อยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2564

สำหรับพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ แต่ไม่มีรายชื่อในโครงสร้างองค์กรใหม่ จะถูกจัดให้อยู่ใน โครงการฟ้าใหม่

หลังจากวันที่ 4 เมษายน 2564 จะทราบว่ามีพนักงานที่มีรายชื่ออยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่แต่ประสงค์สละสิทธิ์หรือไม่ บริษัทจะดำเนินการให้พนักงานอยู่ในโครงการฟ้าใหม่เข้าไปทดแทน (Replace) พนักงานที่สละสิทธิ์ไม่เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ตามตำแหน่งและลำดับที่ได้แสดงความจำนงไว้ และประกาศรายชื่อเพิ่มเติมพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าสู่โครงสร้างใหม่อีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน 2564

งานในโครงการฟ้าใหม่ ที่ไม่ได้รับการทดแทน (Replace) จะยังคงอยู่ภายใต้สัญญาจ้างเดิมอัตราเงินเดือนเดิม และบริษัทจะขอปรับลดอัตราเงินเดือนระยะหนึ่ง และดำเนินการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในการทำงาน (Re-skill) เพื่อรอเข้าหน่วยงานที่ยังขาดคนหรือโครงการใหม่ ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการหรือหากมีโครงการอื่น ๆ ในอนาคตบริษัทจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้พนักงานโดยใช้คำนวณจากเงินเดือนและสวัสดิการเดิม

พนักงานบางคนมองว่าหากไปต่อก็ลำบาก

คนที่ตัดสินใจเข้าโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เป็นเพราะมองว่าหากไปต่อก็ลำบาก เนื่องจากการเปิดให้พนักงานยื่นสมัครงานใหม่ ตามโครงสร้างใหม่ทุกหน่วยงานหรือทุกระดับ พบว่ามีตำแหน่งงานลดลงไปจากเดิมมาก อย่างลูกเรือ เคยมีอยู่ 5,000 คน ก็ลดลงเหลือ 3,000 คน นักบินจาก 1,305 คน เหลือ 905 คน หรือบางแผนก เดิมเคยมีตำแหน่งซีเนียร์ ซุปเปอร์ไวเซอร์ 50 คน ตอนนี้มีต้องการอยู่แค่ 5 คน เป็นต้น

แม้พนักงานจะมีสิทธิ์เลือกสมัครได้ 2 ตำแหน่ง ทั้งสายงานเดิมหรือสายงานอื่น แต่ด้วยความต้องการคนของแต่ละแผนกที่ลดลงจากเดิม การแข่งขันก็สูง ทั้งหากไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามโครงสร้างใหม่ ต้องเข้าไปอยู่ในโครงการฟ้าใหม่ ก็ยิ่งอยู่ยากไปอีก เพราะในช่วงที่อยู่ระหว่างการ Re-skill แม้พนักงานในกลุ่มนี้จะอยู่ในสัญญาจ้างเดิมแต่ต้องถูกลดเงินเดือนต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเลือกเข้าร่วมโครงการ MSP แทน เพราะอย่างน้อยก็ได้เงินสำรองเลี้ยงชีพทันที แม้ว่าจะได้รับเงินชดเชยในลักษณะผ่อนจ่าย 12 เดือน และจ่ายก้อนแรกในอีก 5 เดือน นับจากสมัครใจลาออก

ขณะเดียวกันก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกจะไม่แสดงความจำนงใด ๆ เพื่อรอให้บริษัทเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน การบินไทยยังต้องปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน ภายใน 60 วัน

นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ตามแผนฟื้นฟูการบินไทย ยังจะต้องปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน โดยการบินไทยจะลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989 หมื่นล้านบาท เหลือ 21,827 ล้านบาท

โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้จำหน่าย 516,129,033 หุ้น และจะมีการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644 ล้านหุ้น (หุ้นละ 10 บาท) จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนใหม่ เป็น 21,828 ล้านหุ้น คิดเป็น 218,277 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการหาเงินทุนใหม่ไม่น้อยกว่า 50,000 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีนี้ ทั้งการขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่/ผู้ถือหุ้นเดิม 25,000 ล้านบาท การขอสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน/เจ้าหนี้การบินไทยราว 25,000 ล้านบาท และเพื่อรองรับการชำระหนี้ โดยการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ